top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Writer's pictureThidakarn Rujipattanakul

ไขมันพอกตับ ภัยแฝงของความอ้วน

เมื่อพูดถึงสุขภาพตับ เรามักนึกถึง “แอลกอฮอล์” แต่จริงๆแล้วโรคตับที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ หรือ Non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD) โดยพบได้ 15-35% ของประชากรทั่วโลก

ไขมันพอกตับ

เป็นโรคที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ตามเทรนด์โรคอ้วนลงพุงที่สถิติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในกลุ่มวัยรุ่น วัยกลางคน และผู้สูงอายุ โดยไขมันพอกตับ เป็นโรคที่มาเป็นแพคเกจพร้อมพุง และโรคอื่นๆในกลุ่มเดียวกัน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ซึ่งทั้งหมดเป็นผลหลักจากไลฟ์สไตล์ และการรับประทานอาหารที่ผิดวิธี


เช่นเดียวกับโรคอื่นๆในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไขมันพอกตับ มักไม่มีอาการที่เป็นสัญญาณเตือน แต่ตรวจพบได้จากการทำอัลตราซาวด์ และการตรวจหาพังผืดจากไฟโบรสแกน ส่วนการรักษานั้น ควรตั้งเป้าไปที่การลดน้ำหนัก โดยพบว่าถ้าน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 5% จะลดไขมันที่พอกตับลงได้ และหากน้ำหนักลดมากกว่า 10% พังผืดที่เกิดขึ้นในตับจะลดลงได้



กินอย่างไร ไม่ให้เกิดไขมันพอกตับ?

ลดการกินน้ำตาล

โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุคโตสจากน้ำตาลทรายและคอร์นไซรัปต่างๆ ปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มเติมในอาหารและเครื่องดื่มในแต่ละวันที่เรารับประทานนั้น ไม่ควรจะเกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมสำหรับผู้หญิง และไม่เกิน 9 ช้อนชา หรือ 36 กรัมสำหรับผู้ชาย โดยแหล่งน้ำตาลแฝงที่เรามักได้รับในแต่ละวันคือ ชานม กาแฟปั่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้สำเร็จรูป และขนมหวานต่างๆ


เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ซึ่งจะทำให้ตับแบกภาระหนักขึ้น เร่งกระบวนการอักเสบและการเกิดพังผืดซึ่งนำไปสู่ตับแข็ง


รับประทานอาหารพอประมาณ

ตามทฤษฏีแล้ว จะแนะนำให้ลดอาหารให้ขาดทุนพลังงาน คือใช้มากกว่ากินให้ได้ราว 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน แต่ในทางปฏิบัติจะยากต่อการคำนวณ อาจใช้หลักฝ่ามือในการกะปริมาณ โดยในแต่ละมื้อ ให้ปริมาณข้าวไม่เกินหนึ่งกำมือ เน้นเป็นข้าวกล้อง โปรตีนดีไม่เกินหนึ่งฝ่ามือ เน้นเป็นโปรตีนดีจากปลา ไข่ เต้าหู้ขาว และรับประทานผักให้ได้ราวสองอุ้งมือ เน้นผักสดที่หลากหลาย


การรับประทานในแบบเมดิเตอร์เรเนี่ยน

เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่พบว่าดีต่อตับ หลักคือเน้นธัญพืชไม่ขัดสี ผักผลไม้ โปรตีนดีจากปลาและอาหารทะเล น้ำมันมะกอก ถั่ว เลี่ยงอาหารแปรรูปและเนื้อแปรรูป ลดการรับประทานเนื้อแดงและผลิตภัณฑ์จากนมวัว มีงานวิจัยเปรียบเทียบกับการรับประทานแบบไขมันต่ำ (Low-fat diet) พบว่าการรับประทานแบบเมดิเตอร์เรเนี่ยนส่งผลดีต่อการลดน้ำหนักมากกว่า และยังส่งผลดีต่อสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจด้วย


ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญที่มีหน้าที่กว่า 500 อย่างในร่างกาย โดยหนึ่งในหน้าที่สำคัญคือการจัดการกับสารอาหารและยาต่างๆที่เข้ามาในร่างกาย ตับจึงเป็นอวัยวะที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หากเราไม่ระมัดระวังในการรับประทานอาหารหรือใช้ยาต่างๆเกินความจำเป็น แต่กลไกธรรมชาติมักมีคำตอบให้กับปัญหา ตับจึงเป็นอวัยวะที่มีความสามารถในการฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเองได้ ไม่ว่าจะปัญหาไขมันพอกตับจากน้ำหนักตัวเกิน หรือตับอักเสบจากการดื่มสุรา ล้วนเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ ถ้าเราเข้าใจและตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้ตับไม่แข็ง แต่ตับแข็งแรงพร้อมทำงานให้เราไปยาวๆ


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)


Ref.

1. Miller, Evelyn. (2020). Nutrition Management Strategies for Nonalcoholic Fatty Liver Disease: Treatment and Prevention. Clinical Liver Disease. 15. 144-148. 10.1002/cld.918.

2. Kenneally, Susan, Joanna H. Sier, and J. Bernadette Moore. "Efficacy of dietary and physical activity intervention in non-alcoholic fatty liver disease: a systematic review." BMJ open gastroenterology 4.1 (2017): e000139.

Comments


bottom of page