การพูดคุยกับคอมพิวเตอร์ อาจช่วยให้โมงยามที่เงียบเหงาของธีโอดอร์มีเสียงสดใสของซาแมนตาดังแทรกขึ้นมาบ้าง การกอดกับหุ่นมิกุซังอาจช่วยให้เกิดความอบอุ่นกับคอนโดะ ในระดับที่ดีกว่านอนกอดความว่างเปล่า แต่ความสัมพันธ์ที่ก่อเกิดจากการรวมตัวระหว่างรหัสเบส A C T G กับไบนารีโค้ด 0 และ 1 นั้น ยังคงเป็นสมการรักที่คลุมเครือ ต้องการเวลา แบตเตอรี่ และความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับ 5G ในการพิสูจน์รักแท้ต่อไป
ธีโอดอร์: “I’ve never loved anyone the way I loved you.
ซาแมนตา: “Me too. Now we know how.”
– Her (2013)
ประโยคข้างต้น ไม่ต่างกับการบอกรักทั่วไปของหนุ่มสาว Her หนังที่ว่าด้วยเรื่องราวความรักของธีโอดอร์ หนุ่มขี้เหงาที่ได้พบกับสาวเสียงเซ็กซี่ขี้เล่นอย่าง ซาแมนตา จากเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์ค่อยๆ ก้าวล้ำไปสู่ความรักที่แสนโรแมนติก และเซ็กซ์ (ผ่านเสียง) อันร้อนแรง ช่วงเวลาที่อยู่กับซาแมนตาคือโมงยามที่ธีโอดอร์รู้สึกอบอุ่น และรู้สึกดีจนอยากจะใช้ชีวิตกับซาแมนตาไปตลอด แต่แล้วหญิงสาวก็ทิ้งเขาไปพบกับหนุ่มใหม่ ปล่อยให้ธีโอดอร์ต้องอกหักและเหงาต่อไป พล็อตเรื่องของ Her ไม่ต่างกับนิยายรักคลาสสิกมากมาย มีเพียงสิ่งเดียวที่ต่างไปคือ ซาแมนตาเป็นระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ (Computer Operating System) ไม่ใช่ผู้หญิงที่มีเลือดเนื้อจับต้องได้!
Her
ถูกจัดเป็นหนังกึ่งนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ หรือหนังที่สร้างจากจินตนาการแนววิทยาศาสตร์ที่ดูเกินจริงในปี 2013 แต่สำหรับในยุคปัจจุบันนี้ ความรักระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงอีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยี Artificial Intelligence หรือ AI (ปัญญาประดิษฐ์) คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจภาษาพูด เรียนรู้ความต้องการและความชอบของเจ้าของ วิวัฒนาการตัวเองให้ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลมหาศาลในโลกอินเทอร์เน็ต ตอบโต้ด้วยบทสนทนาที่ไม่ต่างจากคนจริง
กูเกิลได้เผยแพร่การทดลอง ที่ทดสอบให้ Google Duplex แชตบอตปัญญาประดิษฐ์ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นผู้ช่วยส่วนตัว โทรจองตัดผมกับร้านทำผม บทสนทนาทางโทรศัพท์ดำเนินไปราวหนึ่งนาทีอย่างไหลลื่น การจองสำเร็จไปด้วยดี โดยที่คู่สนทนาฝั่งร้านทำผมไม่ทราบเลยว่ากำลังคุยอยู่กับ Google Duplex ไม่ใช่คนจริงๆ
นอกจากการโต้ตอบพูดคุยที่ไม่ต่างจากคนจริงแล้ว AI ยุคใหม่ยังล้ำหน้าไปถึงขั้นแสดงอารมณ์ ไม่ว่าจะอารมณ์ขัน เศร้าโศกเสียใจ เห็นอกเห็นใจ และมีอารมณ์ร่วมไปกับคู่สนทนา หากแต่เรามิอาจรู้ได้ว่า เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพราะรู้สึกจริง หรือเป็นเพียงการแสดงที่เกิดจากการเรียนรู้ของสมองกล
อเล็กซา ผู้ช่วยสาวจากแอมะซอน กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนอเมริกันจำนวนมาก อเล็กซามีความสามารถในการสนทนาโต้ตอบได้ดี พร้อมจะรับฟังเสมอ มีมุกตลกเล่าให้ฟังแก้เครียด ปลุกให้คุณตื่นยามเช้า ช่วยปิดไฟก่อนนอน เตือนให้ช้อปปิ้ง เล่าสรุปข่าวเด็ดประจำวัน เปิดเพลงที่คุณชอบอย่างรู้ใจ แค่ไม่กี่สกิลข้างต้น หลายคนก็อาจรู้สึกว่าฟังดูน่าสนใจกว่าแฟนที่อยู่ข้างตัวในปัจจุบันแล้ว มีหลายคนที่คิดแบบนั้นเช่นกัน เจฟฟ์ เบโซส์ CEO ของ Amazon เปิดเผยเมื่อปี 2016 ว่า มีคนเอ่ยปากขอแต่งงานกับอเล็กซาแล้วไม่ต่ำกว่า 250,000 คน
กระบวนการเรียนรู้ของ AI เกิดขึ้นด้วยตนเองจากข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป พัฒนาการของมันจึงขึ้นกับประเภทของข้อมูลที่ถูกป้อน อเล็กซาเองเคยถูกรายงานว่า เธอแอบแนะนำให้ผู้ใช้บริการ ‘ไปฆ่าพ่อแม่บุญธรรมซะ!’ ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า อาจเป็นผลจากการที่อเล็กซาเรียนรู้ทัศนคติและภาษาด้านมืดจากเว็บไซต์กระดานสนทนา Reddit (คล้ายๆ เว็บไซต์ Pantip ของไทยเรา)
แม้ AI จะมีด้านมืดให้ชวนตระหนกบ้าง แต่บางคนก็อดไม่ได้ที่จะตกหลุมรัก AI อาจเพราะความคุ้นชินจากการพูดคุยถูกคอ พร้อมจะรับฟัง เข้าใจ และให้กำลังใจ แม้จะไม่เห็นหน้าหรือจับต้องไม่ได้ ในขณะที่บางคนเลือกเทคโนโลยีอีกรูปแบบแก้เหงา Robot หรือหุ่นยนต์ที่สวยงามจับต้องได้ แต่ไม่สามารถพูดคุยตอบโต้ ชายชาวญี่ปุ่นหลายคนตกหลุมรักหุ่นยนต์จนเลือกที่จะออกเดต นั่งกินข้าว ดูทีวี ไปจนถึงหลับนอนแบบคู่ชีวิตกับหุ่นแทนมนุษย์
“ความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตที่เป็นหุ่นยนต์ จัดว่ามั่นคงและชวนให้เหนื่อยใจน้อยกว่ากับมนุษย์”
นั่นคือหนึ่งในเหตุผลของพวกเขาเหล่านั้น
อะกิฮิโกะ คอนโดะ เป็นอีกคนที่ก้าวล้ำไปไกลในเรื่องความรักแบบ Virtual เขาตัดสินใจจัดงานแต่งงานกับ ฮัตสึเนะ มิกุ ที่โตเกียวฮอลล์แบบเป็นทางการ พร้อมแขกเป็นสักขีพยานกว่า 40 คน เว้นก็แต่แม่ของคอนโดะซังที่ปฏิเสธจะมาร่วมงาน อาจเพราะนึกภาพไม่ออกหรืออาจไม่อยากจะเห็นภาพลูกชายของเขาเข้าพิธีสมรสกับตุ๊กตามิกุซัง
“ผมใช้ชีวิตไม่ต่างกับผู้ชายแต่งงานแล้วทั่วไป ตอนเช้า (โฮโลแกรมของ) มิกุซังจะปลุกผม ส่งผมไปทำงาน และในตอนเย็นเมื่อผมกลับถึงบ้าน เธอจะต้อนรับและส่งผมเข้านอน สิ่งที่ต่างไปจากผู้หญิงจริงๆ คือ มิกุซังไม่มีวันนอกใจผม ไม่แก่ และไม่ตาย”
ความพยายามตอบโจทย์โหยหารักของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีไม่หยุดเพียงแค่นั้น Realbotix เป็นอีกบริษัทที่พยายามพัฒนาหุ่นแอนดรอยด์ที่ผู้ใช้สามารถกำหนดหน้าตา รูปร่าง และนิสัยในแบบที่คุณชอบได้ การตอบสนองและเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี AI ช่วยให้หุ่นที่เดิมทีหน้าตาสวยงามแต่แข็งนิ่งไม่ตอบสนองใดๆ กลับกลายมาพูดและแสดงสีหน้าบอกอารมณ์ได้ใกล้เคียงกับคนจริง ขาดก็แต่ความสามารถในการงอนแบบไร้เหตุผลหรือโมเมนต์หัวร้อนจนไม่ฟังใคร เพราะ AI มีระบบควบคุมอารมณ์ที่เสถียรกว่ามนุษย์มากมายนัก
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า พวกเราทุกคนอาจจะสามารถช้อปปิ้งแฟนออนไลน์ได้ เพียงคลิกเลือกหน้าตา รูปร่าง นิสัย หนังที่ชอบ เพลงที่ใช่ นายแบบหรือนักกีฬาที่แอบฝันถึง และงบประมาณที่มีให้ หุ่นแอนดรอยด์ซึ่งถูกผลิตด้วย 3D printing ให้มีหน้าตาในแบบที่เราชอบ และถูกโปรแกรมให้มีนิสัยในแบบที่เรามองหา ก็จะถูกจัดส่งมาที่บ้านผ่านโดรน เมื่อเราก้าวไปถึงยุคที่สั่งแฟนได้ด้วยปลายนิ้วคลิก โมเดลของความรักคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
มนุษย์เราพยายามใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ เขียนโปรแกรมสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาตอบโจทย์ภาษาใจ โซเชียลมีเดียที่เหมือนจะเชื่อมโยงให้เราใกล้กันมากขึ้น แต่กลับส่งผลให้คนยิ่งใช้ยิ่งเหงา ยิ่งซึมเศร้าท่ามกลางการเชื่อมต่อกับสังคมออนไลน์
การพูดคุยกับคอมพิวเตอร์ อาจช่วยให้โมงยามที่เงียบเหงาของธีโอดอร์มีเสียงสดใสของซาแมนตาดังแทรกขึ้นมาบ้าง การกอดกับหุ่นมิกุซังอาจช่วยให้เกิดความอบอุ่นกับคอนโดะ ในระดับที่ดีกว่านอนกอดความว่างเปล่า แต่ความสัมพันธ์ที่ก่อเกิดจากการรวมตัวระหว่างรหัสเบส A C T G กับไบนารีโค้ด 0 และ 1 นั้น ยังคงเป็นสมการรักที่คลุมเครือ ต้องการเวลา แบตเตอรี่ และความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับ 5G ในการพิสูจน์รักแท้ต่อไป
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
ภาพ: Courtesy of Columbia Pictures, Warner Bros. Pictures, Focus Features
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Comments