top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Writer's pictureThidakarn Rujipattanakul

ทำไมกินเนื้อรมควัน ถึงเสี่ยงมะเร็ง ? ❗️🍖

ทำไมกินเนื้อรมควัน ถึงเสี่ยงมะเร็ง ? ❗️🍖


“รมควัน” เป็นหนึ่งในวิธีการทำอาหารที่มนุษย์เราทำกันมาหลายพันปี โดยใช้หลักง่ายๆคือ นำเนื้อสัตว์มาหมักบ่มด้วยเกลือ แล้วนำไปรมควัน ซึ่งอุณหภูมิที่ใช้ในการรมควันนั้น มีหลายรูปแบบ ทั้งรมควันเย็น รมควันอุ่น ไปจนถึงรมควันร้อน สำหรับเนื้อสัตว์ที่นำมาใช้รมควันนั้นมีหลากหลาย ทั้งวัว หมู ไก่ เป็ด ไปจนถึงปลา


เนื้อรมควัน


เมื่อเทียบกับการย่างหรือผัด เนื้อรมควันมักจะมีความนุ่มฉ่ำละมุนลิ้นมากกว่า และมีกลิ่นรมควันที่หอมเฉพาะตัว แต่เจ้าควันที่ก่อให้เกิดกลิ่นหอมๆนี้ มีสารเคมีกว่า 200 ชนิด และมีสารที่เข้าข่ายสารก่อมะเร็งคือ HCAs และ PAHs รวมอยู่ด้วย โดยงานวิจัยล่าสุดพบว่า เมื่อเทียบกับการย่างแล้ว การรมควันจะมีการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งมากกว่า เพราะพื้นผิวของเนื้อจะได้รับควันเป็นเวลายาวนานกว่า มีการดูดซึมของสารก่อมะเร็งไปยังพื้นผิวมากกว่า


โดยสาร HCAs และ PAHs นั้น หากได้รับเป็นปริมาณมาก จะก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนส์ ส่งผลให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้ เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งหลายประเภท โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่


สำหรับสายเนื้อรมควันที่ยังอยากโดนความหอมอร่อยอยู่


คำแนะนำสำหรับคนที่ชอบเนื้อรมควัน

  • 👉รับประทานแต่พอประมาณ เนื้อแดง เนื้อแปรรูป เนื้อรมควัน มัดรวมกันทั้งหมดควรจำกัดที่สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

  • 👉เลือกเป็นเนื้อไก่รมควัน จะมีสารก่อมะเร็งน้อยกว่าเนื้อวัว เนื้อหมู

  • 👉สำหรับเนื้อวัว เนื้อหมู พยายามเลือกส่วนที่มันน้อย เพราะสารก่อมะเร็งเกิดจากส่วนมันที่หยดลงไปทำปฏิกริยากับความร้อนเกิดเป็นควัน

  • 👉ตัดส่วนที่ไหม้ออก เพราะเป็นส่วนที่มีสารก่อมะเร็งมาก

  • 👉ปลารมควันก็มีการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งได้มากเช่นกัน เพราะพื้นผิวที่สัมผัสควันมากกว่า

ส่วนตัวหมอเอง ต้องยอมรับว่าแอบชอบรับประทานเนื้อรมควันอยู่เหมือนกัน แต่ก็ใช้หลักทานแต่น้อย ทานเฉพาะที่อร่อย นานๆทานที และทานผักหลากสีที่มีสารต้านมะเร็งร่วมด้วยเสมอ สุดท้ายแล้ว หมอเชื่อว่าการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน ต้องอยู่บนความสมดุลที่ไม่ก่อให้เกิดความทุกข์เพราะถูกจำกัดมากจนเกินไป


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)

www.thidakarn.com

www.twitter.com/thidakarn

www.instagram.com/thidakarn


Ref.

1. https://doi.org/10.1016/j.foodchem.2021.131506.

2. https://health.clevelandclinic.org/is-smoked-meat-bad-for-you/?utm_medium=social&utm_source=twitter&utm_campaign=cc+tweets




Comments


bottom of page