Mirror Neurons หรือเซลล์สมองกระจกเงา คือเซลล์สมองกลุ่มที่ทำให้เราหาวตามคนที่หาว หรือเศร้าตามคนอื่น ซึ่งช่วยให้มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความเข้าใจ รู้จักเห็นอกเห็นใจ และพร้อมจะช่วยเหลือกัน ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้คือแรงผลักดันให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
ทำไมเวลาเพื่อนหาว คุณมักจะหาวตามไปติดๆ
ทำไมแค่เห็นคนตรงข้ามหยีหน้าด้วยความเปรี้ยวของอาหาร คุณก็รู้สึกน้ำลายสอตามไปด้วย
ทำไมเวลาตัวละครโปรดร้องไห้ คุณถึงรู้สึกโหวงที่อกซ้าย ทั้งที่มันเป็นเพียงเรื่องสมมติ
ปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันเหล่านี้อธิบายได้จากการทำงานของเซลล์สมองกลุ่มหนึ่งซึ่งซุกซ่อนตัวอยู่ในสมองส่วนหน้า เซลล์สมองกลุ่มนี้ถูกค้นพบด้วยความบังเอิญราวสิบกว่าปีก่อน เมื่อนักวิจัยชาวอิตาเลียนนำไอศกรีมเข้ามารับประทานในห้องทดลอง ซึ่งมีกลุ่มลิงที่ถูกติดเครื่องมือวัดคลื่นสมองนั่งมองตาปริบๆ
‘แกรก แกรก แกรก’ คลื่นสมองของลิงกระตุกเป็นระยะๆ ตามจังหวะการเลียไอศกรีมของนักวิจัย สมองส่วนกินของเจ้าลิงถูกกระตุ้นราวกับพวกมันได้กินไอศกรีมไปด้วยจริงๆ ปรากฏการณ์ในสมองของเจ้าลิงจุดประกายให้บรรดานักวิจัยสืบค้นต่อไปจนพบว่ามีเซลล์สมองกลุ่มหนึ่งถูกกระตุ้นเมื่อเจ้าลิงเห็นภาพ และสะท้อนภาพที่เห็นไปยังสมองส่วนอื่น ทำหน้าที่ราวกับเป็นกระจกเงาสะท้อน เมื่อเจ้าลิงเห็นเพื่อนเต้นรำ สมองส่วนเต้นรำของมันก็ถูกกระตุ้นตาม เมื่อเจ้าลิงเห็นเพื่อนเจ็บปวด สมองส่วนเจ็บปวดก็ถูกกระตุ้นไปด้วย นักวิจัยจึงตั้งชื่อให้กับเซลล์สมองส่วนนี้ว่า Mirror Neurons หรือเซลล์สมองกระจกเงา
จากลิงมาสู่คน งานวิจัยพบว่าในคนเองก็มีเซลล์สมองกระจกเงาเช่นกัน เซลล์เหล่านี้พร้อมจะกระตุ้นสมองส่วนควบคุมกล้ามเนื้อ เมื่อเราเห็นภาพคนเคลื่อนไหวก็พร้อมจะกระตุ้นสมองส่วนอารมณ์ เมื่อเราเห็นภาพสะเทือนใจที่ตรงกับประสบการณ์ในอดีต เซลล์สมองกระจกเงาเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยู่เบื้องหน้าได้ง่ายขึ้น นั่นหมายความว่าการเอาใจเขามาใส่ใจเราไม่ได้เป็นเพียงเรื่องนามธรรม แต่มีความเป็นรูปธรรมถึงในระดับเซลล์ที่ทุกคนมีอยู่ในสมองตั้งแต่กำเนิด
แต่ละหน้าที่ของเซลล์ในร่างกายเราล้วนมีเหตุผลที่ตอบโจทย์การดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ เซลล์สมองกระจกเงาก็เช่นกัน นักวิวัฒนาการบางกลุ่มเชื่อว่าเซลล์สมองกลุ่มนี้มีส่วนช่วยให้มนุษย์รู้จักการเลียนแบบพฤติกรรมและส่งต่อทักษะการดำรงชีพต่างๆ จากลิงตัวแรกที่รู้จักหยิบจับหินมาเป็นเครื่องมือ ทักษะนั้นถูกส่งต่อไปทั้งเผ่าพันธุ์ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือเซลล์สมองกลุ่มนี้ช่วยให้มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความเข้าใจ รู้จักเห็นอกเห็นใจ และพร้อมจะช่วยเหลือกัน ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้คือแรงผลักดันให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
ทันทีที่นิ้วก้อยขวาของหมอเคาะตัว ข.ไข่ ในคำว่า ‘สงบสุข’ ความเอ๊ะ! ก็ปรากฏขึ้นในสมอง พร้อมอาการแย้งในใจขึ้นมาว่า การอยู่ร่วมกันของมนุษย์เราในปัจจุบันนั้น หาความสงบสุขได้ไม่ง่ายเลย ทั้งที่เราเกิดมาพร้อมกับเซลล์สมองที่พร้อมจะเข้าใจและเห็นใจคนอื่น แต่เรากลับใช้สมองส่วนอื่นจนลืมที่จะใช้งานสมองส่วนนี้
ความหมางเมินระหว่างมนุษย์เรากับเซลล์สมองส่วนกระจกเงาอาจเกิดจากการที่เทคโนโลยีในปัจจุบันเอื้อให้เรามีหลายสิ่งชวนให้เบี่ยงเบนความสนใจ สัญญาณการรับรู้ที่ส่งผ่านประสาทสัมผัสอย่างตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนั้นไม่ได้ถูกส่งมาจากสิ่งรอบตัวเบื้องหน้า แต่กลับถูกส่งผ่านสัญญาณดิจิทัลจากที่ไกลแสนไกลออกไป หลายครั้งที่เราพร้อมจะสนใจเรื่องราวของคนไม่รู้จักในมือถือมากกว่าการเคลื่อนไหวของคนรู้จักที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า และหลายคราที่เราคิดวิเคราะห์ในเรื่องของคนที่ไม่ได้มีวงจรชีวิตเกี่ยวข้องกับเราเลยมากกว่าที่จะคิดถึงคนในครอบครัว
เซลล์สมองไม่ต่างกับกล้ามเนื้อแต่ละมัดในร่างกาย กล้ามเนื้อมัดไหนที่ได้รับการฝึกฝนบ่อยก็จะแข็งแรง ตอบสนองได้ดี ในขณะที่กล้ามเนื้อมัดที่ไม่ค่อยได้รับการใช้งานก็จะฝ่อ ฟีบ และหมดความสำคัญไปในที่สุด
ถ้าเราทุกคนต่างฝึกเซลล์สมองกระจกเงาให้สะท้อนสัญญาณมากกว่าการหาว การหิว หรือการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ฝึกสังเกตและจับสัญญาณให้ละเอียดเพื่อให้กระจกเงานั้นฉายภาพลึกลงไปในความรู้สึกและอารมณ์ของคนรอบข้าง สะท้อนให้เราได้คุ้นชินกับการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ อย่างที่เราเคยทำมาแต่เก่าก่อน
พวกเราอาจจะเข้าใจกันและกัน… มากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:
Rizzolatti, Giacomo, and Laila Craighero. “The mirror-neuron system.” Annu. Rev. Neurosci. 27 (2004): 169-192.
Kilner, James M., et al. “Evidence of mirror neurons in human inferior frontal gyrus.” Journal of Neuroscience 29.32 (2009): 10153-10159.
Comentarios