top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Writer's pictureThidakarn Rujipattanakul

“สวัสดีครับ ผมนายแพทย์ปัญญา ประดิษฐ์ครับ”


  • ตั้งคำถามว่า Telehealth, Internet of Things และ Artificial Intelligence (AI) ที่ล้วนเป็นคลื่นดิจิทัลลูกใหญ่ที่กระทบวงการแพทย์ทั่วโลกกำลังจะทำให้ ‘หมอตกงาน’ จริงหรือ?

  • หนึ่งใน AI ที่ถูกนำมาทดลองใช้ทางการแพทย์และถูกพูดถึงบ่อยที่สุดคือ ‘Watson’ จากบริษัท IBM แต่เพิ่งถูกปลดระวางเมื่อต้นปี 2017 ที่ผ่านมานี้ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน

เรามาหลับตาแล้วจินตนาการไปด้วยกันนะคะ ในวันหนึ่งที่คุณตื่นมาแล้วเจ็บคอและรู้สึกเหมือนมีไข้ คุณค่อยๆ เคลื่อนตัวไปยังห้องน้ำ ปัสสาวะลงโถซึ่งหน้าตาเหมือนสุขภัณฑ์ทั่วไป แต่มันกลับวิเคราะห์ปัสสาวะของคุณและส่งข้อความเตือนว่า ปัสสาวะของคุณกำลังขาดน้ำ กระจกในห้องน้ำแปรสภาพเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อสายถึงคุณหมอประจำตัว เครื่องมือตรวจวัดสัญญาณชีพต่างๆ ถูกติดเข้าที่หน้าอก อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต ชีพจร อัตราการหายใจ คุณภาพการนอนที่ผ่านการจับสัญญาณการเคลื่อนไหวบวกกับ Heart Rate Variability (HRV) ผ่านเตียงนอน รวมไปถึงผลการตรวจปัสสาวะถูกส่งไปยังคุณหมอของคุณ

“อ้าปากกว้างๆ นะครับ …ก้มหน้าเล็กน้อย พูดอา…” ภาพทอนซิลของคุณถูกขยายและวิเคราะห์ลักษณะการอักเสบ ข้อมูลอายุ โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาในอดีต อาการ สัญญาณชีพ และความผิดปกติที่ตรวจพบในวันนี้ถูกประมวลเข้ากับข้อมูลการรักษาที่อัพเดตที่สุดในปัจจุบันกลายมาเป็นแผนการรักษาของคุณ

และทันทีที่คุณคลิก ‘Accept’ ค่ารักษาพยาบาลจะถูกตัดผ่านบัญชี และยาที่คุณควรได้รับจะถูกนำมาส่งถึงบ้าน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 15 นาที ในบ้านของคุณเอง ในเวลาตีสาม ซึ่งเป็นเวลาที่คุณพอใจอยากจะตื่นมาพบหมอประจำตัว

เรื่องในจินตนาการทั้งหมดนี้ กำลังจะเกิดขึ้นจริงกับตัวคุณในอีกไม่นานนี้ค่ะ Telehealth, Internet of Things และ Artificial Intelligence (AI) ล้วนเป็นคลื่นดิจิทัลลูกใหญ่ที่กระทบวงการแพทย์ทั่วโลก โดยเฉพาะ AI ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกึ่งหวาดระแวงว่ากำลังจะทำให้ ‘หมอตกงาน’

หนึ่งใน AI ที่ถูกนำมาทดลองใช้ทางการแพทย์ และถูกพูดถึงบ่อยที่สุดคือ ‘Watson’ (วัตสัน) จากบริษัท IBM วัตสันถูกป้อนข้อมูลจากตำราแพทย์ วารสารทางการแพทย์ งานวิจัยจากทั่วโลก และทุกข้อมูลที่จำเป็นต่อการเป็นแพทย์ในปริมาณที่มากเกินกว่านักศึกษาแพทย์คนไหนในโลกจะเรียนได้หมด แต่วัตสันจำข้อมูลทั้งหมดได้ ไม่มีผิดพลาด

มันยังถูกโปรแกรมให้รู้จักปรับสมองให้ฉลาดขึ้นผ่านการเรียนรู้ถูกผิด หรือที่เรียกว่า Machine Learning วัตสันจึงเก่งขึ้นได้เรื่อยๆ ตามประสบการณ์ที่เพิ่มพูน

ด้วยคุณสมบัติที่เหนือมนุษย์นี้ วัตสันถูกนำมาทดลองใช้ในฐานะผู้ให้คำแนะนำกับแพทย์ในการวางแผนรักษามะเร็ง ที่ศูนย์รักษามะเร็งอันดับหนึ่งของโลก MD Anderson ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2012

การอ้าแขนรับปัญญาประดิษฐ์อย่างคุณหมอวัตสันเข้าร่วมงานเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก คุณหมอวัตสันถูกทดลองงานอยู่ 5 ปี แล้วจู่ๆ ก็ถูกปลดระวางเมื่อต้นปี 2017 ที่ผ่านมานี้ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน บ้างก็ว่าเป็นปัญหาเรื่องเงินทุนโมเดลทางธุรกิจ บ้างก็ว่ามีปัญหาในการเชื่อมต่อกับข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาล บางกระแสก็บอกว่าเนื่องจาก IBM ไม่สามารถดำเนินตามแผนงานที่วางไทม์ไลน์ไว้

Robot and Frank (2012) แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การถูกปลดของคุณหมอวัตสันส่งผลให้บางคนตั้งคำถามกับ AI และการนำมาใช้ได้จริงทางการแพทย์ ในความเป็นจริงแล้วการพัฒนา AI เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์เป็นโครงการที่บริษัทน้อยใหญ่มากมายทุ่มเทศึกษา ยักษ์ใหญ่อย่าง Google เองก็กำลังพัฒนา AI ที่จดจำรูปแบบ (Pattern Recognition) ของชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาร่วมกับการเรียนรู้ที่เลียนแบบการทำงานของเซลล์สมองมนุษย์ เพื่อนำมาช่วยอ่านผลชิ้นเนื้อมะเร็ง ซึ่งจากงานวิจัยในเบื้องต้นพบว่า เจ้า AI นั้นอ่านผลชิ้นเนื้อได้เทียบเท่าหรืออาจจะแม่นยำกว่าแพทย์ เพราะ AI จดจำข้อมูลได้มากกว่า อีกทั้งยังไม่มีความอ่อนล้าทางสายตาหรือสมอง แม้จะต้องอ่านผลทั้งวันทั้งคืน

การแปลผลทางรังสีวิทยา เช่น ผลเอกซเรย์ปอด ผล CT scan ต่างๆ เป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีการทดลองใช้ AI มาช่วยอย่างมาก รวมถึงการวิเคราะห์มะเร็งผิวหนัง เช่น การวิเคราะห์ว่าไฝแต่ละเม็ดมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องตัดออกหรือไม่ ก็มีการศึกษากันมาก (รวมถึงทีมนักวิจัยไทย) ที่น่าสนใจมากคือ ผลเบื้องต้นพบว่า AI แม่นยำจนหมอผิวหนังมีสิทธิ์ตกที่นั่งลำบากได้

แม้จะฟังดูราวกับว่าคุณหมอปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้อาจมาแย่งงานหมอจริงๆ ได้สักวันหนึ่ง จนมีบางกระแสที่กลัวการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ AI แต่ในความเห็นของหมอ AI เหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วย จุดประสงค์หลักคือ Clinical Decision Support (สนับสนุนการตัดสินใจ) และ Minimize Human Error (ลดความผิดพลาดของมนุษย์) มากกว่าจะมาแทนที่แพทย์จริงๆ คุณหมอปัญญาประดิษฐ์จึงเปรียบเสมือนเพื่อนร่วมงาน ที่มาช่วยให้งานง่ายขึ้นและผิดพลาดน้อยลง มากกว่าจะมาแย่งงานหมอตัวจริง

ท้ายที่สุดแล้ว การดูแลรักษาความเจ็บป่วยยังคงต้องอาศัยทั้งวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับศิลปะ ซึ่งศิลปะเป็นเรื่องที่ไม่มีแพตเทิร์นให้ปัญญาประดิษฐ์จดจำและเข้าใจได้ทั้งหมด และที่สำคัญที่สุดคือการรักษาพยาบาลยังคงต้องการ Human Touch ซึ่งนายแพทย์ปัญญา ประดิษฐ์ยังไม่สามารถหยิบยื่นให้ได้ (ในปัจจุบัน)


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)

อ้างอิง:



Comments


bottom of page