หนึ่งในความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่หมอได้ยินบ่อยมากคือ
ลดน้ำหนัก คือการคำนวณแคลอรี่เข้าออก ถ้าออกมากกว่าเข้าได้ ก็ผอมละ!
ในความเป็นจริงแล้ว เมื่ออาหารแต่ละชนิดผ่านเข้าสู่ร่างกาย พลังงานที่ได้รับเป็นเพียงผลด้านหนึ่ง แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างเกิดขึ้น โดยมีด้านหลักคือ ฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนอินซูลิน ที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ฮอร์โมนเลปติน ซึ่งคอยส่งสัญญาณบอกสมองให้รู้สึกอิ่ม พบว่าฮอร์โมนทั้งสองนี้ตอบสนองต่ออาหารแต่ละอย่างต่างกันไป
อีกปัจจัยหนึ่งคือประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ พบว่าประเภทของอาหารที่เรากินสัมพันธ์กับความหลากหลายของสายพันธุ์แบคทีเรีย ซึ่งมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารและน้ำหนักตัว
ถ้าเราเข้าใจว่า การเพิ่มของน้ำหนักตัวเป็นกระบวนการทางชีวภาพที่ซับซ้อน ไม่ใช่แค่เรื่องของปริมาณแคลอรี่ที่เข้าหรือออก เราจะเข้าใจอีกหลายประเด็นที่ตามมา
ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก
การตะบี้ตะบันอดอาหาร โดยไม่สนใจประเภทของอาหารเลย ไม่ใช่คำตอบของการลดน้ำหนักที่ถาวร
บางคนกินไม่น้อย แต่ไม่อ้วน ไม่ใช่แค่ผลจากพันธุกรรม แต่สัมพันธ์กับประเภทอาหารที่กินด้วย
การออกกำลังกายอย่างเดียว โดยไม่คุมอาหารเลย มักไม่ช่วยให้น้ำหนักลด
ไดเอทสุดโต่งแบบไม่กินคาร์บเลย หรือไม่กินไขมันเลย ไม่ใช่คำตอบเพื่อสุขภาพในระยะยาว แต่การรู้จักเลือกกิน แป้งเชิงซ้อน โปรตีนดี ไขมันดี คือไดเอทแบบทางสายกลางที่ยั่งยืนกว่า
สำหรับคนที่เคยล้มเหลวกับการลดน้ำหนักแบบเน้นอดอาหาร ลองปรับความเข้าใจเสียใหม่ อดทนเรียนรู้การกินอย่างถูกวิธี มีวินัยกับการออกกำลังกาย และทำให้เป็นไลฟ์สไตล์ของเราให้ได้ ไม่ใช่แค่เข้าคอร์สเป็นช่วงๆ หมอเป็นกำลังใจให้นะคะ
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
Ref.
1. T. D. Spector, The diet myth: the real science behind what we eat. London: Weidenfeld & Nicolson, 2016.
2. Ludwig DS, Friedman MI. Increasing Adiposity Consequence or Cause of Overeating?. JAMA. 2014;311(21):2167–2168. doi:10.1001/jama.2014.4133
3. Kelly, Aaron S. "Debunking the myth: exercise is an effective weight loss treatment." Exercise and sport sciences reviews 43.1 (2015): 2.
Comments