มีการประมาณว่า ความเหงาเป็นภัยที่คุกคามคนทั่วโลกในระดับที่สูสีกับโรคอ้วน และในหลายครั้งทั้งเหงาและอ้วนก็ส่งเสริมกันและกันแบบไม่เกรงใจคนโดนรุม
คนเหงาจะมีคุณภาพการนอนที่แย่กว่า หลับไม่ลึก และตื่นบ่อยระหว่างคืน ส่งผลให้อ่อนเพลียในยามเช้า มีฮอร์โมนเครียด (Cortisol Hormone) สูงกว่าคนไม่เหงา นำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า อัลไซเมอร์ ความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง
ผลวิจัยพบว่า หากเทียบกันแล้ว การเหงาเรื้อรังส่งผลเสียต่อสุขภาพและการหดสั้นลงของอายุขัยเฉลี่ย ไม่แพ้การสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันเลยทีเดียว!
บ่อยแค่ไหน ที่คุณรู้สึกขาดคนเคียงข้าง
บ่อยแค่ไหน ที่คุณรู้สึกถูกทอดทิ้ง
บ่อยแค่ไหน ที่คุณรู้สึกโดดเดี่ยวแปลกแยกจากคนอื่น
ถ้าคำตอบคือ ‘บ่อยมาก’ ทั้ง 3 ข้อ มีความเป็นไปได้สูงว่าคุณกำลังถูกคุกคามจากความเหงา
เช่นเดียวกับ 1 ใน 5 ของประชากรอังกฤษและอเมริกา มีการประมาณว่า ความเหงาเป็นภัยที่คุกคามคนทั่วโลกในระดับที่สูสีกับโรคอ้วน และในหลายครั้งทั้งเหงาและอ้วนก็ส่งเสริมกันและกันแบบไม่เกรงใจคนโดนรุม
ตามทฤษฎีแล้ว ความเหงาจะก่อกำเนิดขึ้นในใจเมื่อความคาดหวังในความสัมพันธ์ทางสังคมต่างไปจากความเป็นจริงที่ได้รับ ความเหงาไม่ได้ขึ้นกับจำนวนผู้คนรอบข้าง การอยู่ตัวคนเดียวไม่จำเป็นต้องเหงา และความเหงาก็เกิดขึ้นได้แม้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย
วิจัยจาก UK Campaign to End Loneliness พบว่า ความเหงาเกิดขึ้นง่ายๆ ในสถานการณ์ประจำวัน เมื่อเราไม่มีใครที่จะหัวเราะไปด้วยกัน ไม่มีใครรับประทานอาหารด้วย ไม่มีคนจับมือ หรือไม่รู้จะวางแผนเที่ยวในวันหยุดยาวไปกับใคร ความรู้สึกเหงาตอกย้ำชัดว่า สัตว์สังคมอย่างมนุษย์เราไม่ได้ต้องการเพียงใครก็ได้ที่อยู่เคียงข้าง แต่ต้องการใครสักคนที่เราไว้วางใจ อยากใช้ชีวิตด้วย อยากเติบโตและก้าวสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้ไปด้วยกัน
อาการเหงามีขึ้นมีลงมากน้อยได้ ตามแต่ปัจจัยหลายอย่าง หนึ่งในปัจจัยที่มีผลคือ ‘ฤดูกาล’ พบว่า ในฤดูหนาวที่อากาศอึมครึม แสงแดดห่างหาย โดยเฉพาะในแถบประเทศที่ตั้งอยู่ห่างเส้นศูนย์สูตร ความชุกของโรคซึมเศร้าและเหงาหนักจะเพิ่มขึ้นได้ เวลาที่โหดร้ายสำหรับคนขี้เหงาคือช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งเป็นฤดูกาลที่แสนอบอุ่นของคนทั่วไป แต่กลายเป็นฤดูเหงาที่หนาวเหน็บของคนที่ต้องอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีคนเคียงข้างร่วมฉลองด้วย
ความเหงาที่เกิดในระยะเวลาสั้นๆ เพียงชั่วครั้งชั่วคราวตามเทศกาล เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในชีวิต แต่ความเหงาที่เรื้อรังและต่อเนื่องอย่างไม่สิ้นสุดนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ กลไกกัดกร่อนจิตใจของความเหงาอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์
พบว่า ในคนเหงาจะมีคุณภาพการนอนที่แย่กว่า หลับไม่ลึก และตื่นบ่อยระหว่างคืน ส่งผลให้อ่อนเพลียในยามเช้า มีฮอร์โมนเครียด (Cortisol Hormone) สูงกว่าคนไม่เหงา จึงมีภาวะการอักเสบในระดับโมเลกุลที่สูงกว่า (Molecular inflammation) นำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า อัลไซเมอร์ ความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง และอื่นๆ อีกมากมาย
ตอกย้ำด้วยผลของอีกงานวิจัยที่พบว่า หากเทียบกันแล้ว การเหงาเรื้อรังนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพและการหดสั้นลงของอายุขัยเฉลี่ยไม่แพ้การสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันเลยทีเดียว!
รัฐบาลอังกฤษตื่นตัวกับการระบาดของความเหงา ถึงขั้นตั้ง เทรซีย์ เคราช์ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีแก้ปัญหาเหงา (Minister of Loneliness) อย่างจริงจังเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผลงานในช่วงแรกของเคราช์เน้นไปที่การสร้างพื้นที่สาธารณะให้กลุ่มคนเหงาได้ใช้ร่วมกัน เช่น Men’s Shed สมาคมสำหรับชายสูงอายุที่อยากหาเพื่อนทำกิจกรรมแบบแมนๆ อย่าง งานไม้ หรือซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ยังต้องติดตามผลต่อไปว่า โครงการพื้นที่แชร์ความเหงาของเคราช์จะได้ผลมากน้อยเพียงใด
สำหรับการรักษาอาการเหงานั้น นอกจากความพยายามในการสร้างพื้นที่และโอกาสให้คนเหงาได้มาอยู่ร่วมกันเพื่อเยียวยากัน สร้างสังคมที่เอื้อต่อความอบอุ่น และการรักษาโดยบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) แล้ว ยังมีการทดลองใช้ยาในกลุ่มต้านซึมเศร้า รวมถึงทดลองใช้ฮอร์โมนออกซิโทซิน (ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเมื่อเราถูกกอดหรือแสดงความรัก) เพื่อบำบัดความเหงา แต่ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยที่ไม่มีบทสรุปชัดเจน
“ความเหงาไม่เคยฆ่าใคร” เป็นคำกล่าวที่ไม่เป็นความจริง เพราะความเหงากำลังเป็นฆาตกรเงียบที่ทำร้ายสุขภาพผู้คนทั่วโลกอย่างช้าๆ แต่หนักแน่นและถาโถม หากคุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกภัยเหงาคุกคาม อย่ากลัวที่จะยอมรับความจริง และบอกกับคนรอบข้าง จะเป็นครอบครัว เพื่อนวัยเด็ก เพื่อนที่ทำงาน ญาติห่างๆ หรือจิตแพทย์ก็ได้ ขอเพียงกล้าที่จะเปิดความรู้สึกในใจที่แท้จริงออกมา
หมอเชื่อว่ามีคนที่พร้อมจะรับฟังและแบ่งเบาช่วงฤดูเหงาไปกับคุณค่ะ
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
ภาพ: Universal Pictures
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
Cacioppo, Stephanie, et al. “Loneliness: Clinical import and interventions.” Perspectives on Psychological Science 10.2 (2015): 238-249.
www.health.harvard.edu/blog/the-power-and-prevalence-of-loneliness-2017011310977
www.psychologytoday.com/intl/blog/cusp/201408/the-science-loneliness
Comments