ช่วงที่ผ่านมา คำว่า “7 กลุ่มโรคเสี่ยง” เป็นนิยามที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง ในเกณฑ์การได้รับวัคซีนป้องกันโควิด19 หนึ่งในเจ็ดกลุ่มโรคนี้คือ โรคอ้วน ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า “อ้วน” ส่งผลต่อโควิดได้อย่างไร?
จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า โรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงจากโควิด โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุน้อย (18-49 ปี) พบว่าโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งต่อการติดเชื้อรุนแรง❗
โดยนิยามของโรคอ้วนนั้น คำนวณจากนำน้ำหนักตัว หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง ถ้าค่าที่ได้เกินกว่า 30 จะจัดว่าเป็นโรคอ้วน (ถ้าอยู่ระหว่าง 25-30 จัดว่าน้ำหนักตัวมากเกินไป)
กลไกที่โรคอ้วนส่งผลให้อาการของโควิดรุนแรงขึ้นนั้น เกิดจาก
1️⃣ ในผู้ป่วยโรคอ้วน จะมีเซลล์ไขมันในร่างกาย ซึ่งหลั่งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบอยู่แล้ว เมื่อติดโควิด19 ซึ่งมีการอักเสบเป็นกลไกพื้นฐานที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรค และทำลายอวัยวะต่างๆ ผู้ป่วยโรคอ้วนจึงมีแนวโน้มเกิดการอักเสบรุนแรงขึ้น ความรุนแรงของโรคมากขึ้น
2️⃣ โรคอ้วนส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งเม็ดเลือดขาวประเภทบีเซลล์ และทีเซลล์ ส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ ประสิทธิภาพในการต่อสู้กับไวรัสจึงลดลง
3️⃣ โดยพื้นฐานเดิม ผู้ป่วยโรคอ้วนจะมีการทำงานของระบบหายใจโดยเฉพาะปอดไม่สมบูรณ์ การหดตัวของกระบังลมไม่เต็มที่ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจลดลง เมื่อปอดเกิดการติดเชื้อจึงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น โรคอ้วนมักมากันเป็นแพคเกจกับโรคอื่นๆ โดยเฉพาะเบาหวาน ไขมันพอกตับ ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ จึงส่งผลให้เมื่อติดโควิด19 แล้วป่วยรุนแรงขึ้น
นอกจากความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงขึ้นแล้ว ผู้ป่วยโรคอ้วนยังมีความเสี่ยงที่จะป่วยนาน และมีการแพร่เชื้อไวรัสนานกว่าปกติ เป็นผลจากความไม่แข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกัน และเนื้อเยื่อไขมันซึ่งทำตัวคล้าย viral reservoir
โควิด19 สอนวงการแพทย์ให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง ทั้งการผลิตวัคซีนที่รวดเร็วเป็นประวัติศาสตร์ การใช้เทคโนโลยีแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกันทั่วโลก การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของโทรเวชกรรม รวมถึงการฉายสปอตไลท์ไปที่โรคอ้วน ให้เราได้ตระหนักถึงความรุนแรง และความจำเป็นที่จะต้องให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างจริงจัง ไม่มองเป็นเพียงเรื่องของความสวยงาม
สำหรับคนที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีโรคอ้วน และมีความตั้งใจที่จะลดน้ำหนัก สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกวิธีซึ่งหมอเคยแชร์ไว้ในเพจมาโดยตลอด หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ทางทวิตเตอร์
หมอพร้อมจะเป็นกำลังใจ และแบ่งปันความรู้ดีๆในเรื่องการลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพให้เสมอค่ะ💚
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
www.twitter.com/thidakarn
www.instagram.com/thidakarn
Ref. Aghili, S.M.M., Ebrahimpur, M., Arjmand, B. et al. Obesity in COVID-19 era, implications for mechanisms, comorbidities, and prognosis: a review and meta-analysis. Int J Obes 45, 998–1016 (2021).
Comments