top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Writer's pictureThidakarn Rujipattanakul

ทำไมหมอถึงเลือกน้ำเปล่า มากกว่า น้ำวิตามิน

น้ำวิตามิน

เป็นเทรนด์ฮิตในอเมริกามาตั้งแต่ราว 10 ปีก่อน แต่เพิ่งมาฮิตมากๆในเมืองไทยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ส่วนตัวหมอเอง น่าจะจัดว่าตกกระแสอย่างแรง เพราะไม่เคยซื้อมาดื่มเลยสักครั้ง จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีโอกาสดื่มเป็นครั้งแรก เพราะออฟฟิศที่ประชุมงานไม่มีน้ำเปล่าให้พนักงานดื่ม มีแต่น้ำวิตามินแช่อยู่เต็มตู้เย็น!



“รสมันแปร่งๆ”

คือความรู้สึกแรกเมื่อได้จิบ หมอจึงพลิกดูฉลากว่าในน้ำนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง พบส่วนประกอบที่ระบุคือ น้ำ วิตามินบี เกลือ สารควบคุมความเป็นกรด ซูคราโลส และแต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ (artificial flavors)


จุดเด่นของน้ำวิตามินคือ

ความรู้สึกว่าดื่มแล้วดีต่อสุขภาพ เพราะวิตามินสังเคราะห์ที่ถูกเติมลงไปจะช่วยชดเชยวิตามินที่ขาดหายให้กับร่างกาย


เรามาดูข้อเท็จจริงในประเด็นนี้กันค่ะ


วิตามินที่ถูกบรรจุในน้ำวิตามินตามท้องตลาดส่วนใหญ่คือ วิตามินบี และ วิตามินซี ซึ่งสำหรับคนวัยทำงานที่รับประทานอาหารได้ปกติ ไม่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการดูดซึมอาหาร ไม่มีข้อบ่งชี้ที่จะต้องรับประทานวิตามินเสริมเป็นประจำ (ยกเว้นคนรับประทานมังสวิรัติซึ่งมีโอกาสขาดวิตามินบี12ได้)


วิตามินแต่ละตัว จะมีค่า RDA (Recommended Dietary Allowance) คือปริมาณที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน พบว่าน้ำวิตามินบางแบรนด์ แค่ดื่มหนึ่งขวดก็จะได้รับวิตามินเกินกว่าค่า RDA ไปเท่าตัว หากดื่มแทนน้ำเปล่าวันละหลายขวด ก็จะได้รับวิตามินไปเกินกว่าค่าที่ควรได้รับมาก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบในระยะยาว หากร่างกายได้รับปริมาณวิตามินที่เกินกว่ากำหนดต่อเนื่องนาน


น้ำวิตามินบางแบรนด์ มีความหวานจากน้ำตาล ซึ่งแน่นอนว่า Added sugar หรือน้ำตาลที่เพิ่มเติมลงในอาหารและเครื่องดื่มที่เราบริโภคในแต่ละวันนั้น หากมากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง เบาหวาน และโรคในกลุ่ม NCDs อื่นๆ ได้ ในขณะที่น้ำวิตามินบางแบรนด์ใช้ความหวานจากสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ซึ่งดูเผินๆเหมือนจะดีกว่า แต่งานวิจัยในปัจจุบันยังคงตั้งคำถามกับสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล โดยเฉพาะในสองประเด็น หนึ่งคือ การรบกวนสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่นั้นมีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน และการดูดซึมสารอาหาร การเสียสมดุลของประชากรแบคทีเรียจะส่งผลกระทบต่อสองระบบนี้ได้ สองคือ การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาล จะเป็นตัวเลือกที่ดีในช่วงลดน้ำหนักหรือไม่ เพราะพบว่าสมองยังคงเสพติดความหวานและกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้นได้


ส่วนประกอบสุดท้ายคือ สารเคมีต่างๆ ที่ไม่ได้ระบุชื่อ แต่ถูกเรียกรวมกันว่า Artificial flavors หรือสารปรุงแต่งกลิ่นรสให้เหมือนหอมหวานเหมือนเครื่องดื่มตามธรรมชาติ ซึ่งสารเหล่านี้ได้รับการตรวจสอบว่าปลอดภัย ณ ปัจจุบัน แต่หากเรามองย้อนหลังไปจะพบว่า Food additives จำนวนมากที่ผ่านการตรวจสอบจนถูกนำมาใช้ไปสักพัก กลับถูกแบนและห้ามใช้ในเวลาต่อมา เมื่อพบผลเสียต่อสุขภาพที่ตามมาภายหลัง ยกตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเพิ่งประกาศห้ามใช้สารแต่งกลิ่นรสที่พบได้บ่อย 6 ตัว (benzophenone, ethyl acrylate, eugenyl methyl ether (methyl eugenol), myrcene, pulegone, pyridine)


น้ำวิตามิน สรุปได้ว่า

ในแง่ความเสี่ยงต่อสุขภาพของน้ำวิตามินนั้น ยังไม่พบว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ชัดเจน ณ ปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความเสี่ยงใดๆ เพราะยังมีประเด็นทางสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของการรับประทานวิตามินเสริมปริมาณสูงระยะยาว สารให้ความหวานแทนน้ำตาล และสารแต่งกลิ่นเลียนแบบธรรมชาติ ที่ต้องรอการพิสูจน์ในระยะยาวต่อไป


วิธีดื่มน้ำเพื่อดูแลสุขภาพ

- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

- เน้นรับประทานวิตามินจากอาหารจริงๆ วิตามินบีมีในธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วต่างๆ ปลา ไข่ ไก่ โยเกิร์ต นม ส่วนวิตามินซีมีในผักผลไม้ต่างๆ

- ถ้าสงสัยว่าขาดวิตามิน มีอาการอ่อนเพลียไม่ทราบสาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

- กฎสำคัญสำหรับการกินอาหารเพื่อสุขภาพคือ เน้นกิน ‘Real food’ หรืออาหารจริงๆ ไม่ใช่อาหารสังเคราะห์,แปรรูป,ปรุงแต่ง

- สำหรับคนที่ชอบดื่มน้ำที่มีรสชาติ ดื่มเป็นน้ำผักผลไม้ปั่น ไม่เติมน้ำตาลเพิ่ม จะได้วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ


หวังว่าข้อมูลที่นำมาฝาก จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านเพจ PleasehealthBooks ทุกท่านนะคะ เมื่ออ่านจบแล้วเลือกที่จะดื่มน้ำวิตามินต่อเพราะชอบในรสชาติ หรือเปลี่ยนใจไม่ดื่มต่อ ก็แล้วแต่การตัดสินใจส่วนบุคคล ส่วนตัวหมอนั้น ชอบน้ำเปล่ามากกว่า ทั้งในแง่รสชาติและผลต่อสุขภาพค่ะ


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)


อ้างอิง


1. Ruiz-Ojeda, Francisco Javier, et al. "Effects of sweeteners on the gut microbiota: a review of experimental studies and clinical trials." Advances in Nutrition 10.suppl_1 (2019): S31-S48.

2. Swithers, Susan E., and Jane Shearer. "Obesity: sweetener associated with increased adiposity in young adults." Nature Reviews Endocrinology 13.8 (2017): 443-444.

3. Chia, Chee W., et al. "Chronic low-calorie sweetener use and risk of abdominal obesity among older adults: a cohort study." PloS one 11.11 (2016): e0167241.

5. https://www.fda.gov/food/cfsan-constituent-updates/fda-removes-7-synthetic-flavoring-substances-food-additives-list

Comments


bottom of page