HIGHLIGHTS
อัตราการเติบโตของ Start-up ขึ้นกับขนาดตลาด เนื่องจากประเทศไทยเราจัดเป็นประเทศขนาดไม่ใหญ่ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราไม่ได้มี Unicorn เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างประเทศที่มีประชากรมาก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย หรืออินโดนีเซีย
ในภาพรวมโดยเฉพาะตัวบทกฎหมาย ต้องยอมรับว่ารัฐไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก Start-up กฎข้อบังคับด้าน Telepharmacy และ Telemedicine ตามไม่ทันเทคโนโลยีและบริบทที่เปลี่ยนไป จึงไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตของ Start-up และกฎหมายด้านภาษีก็ไม่เอื้อต่อการเกิด Employee Stock Options
สำหรับวงการ Start-up ไทย ปี 2564 ที่ผ่านมาจัดเป็นปีที่จุดประกายความหวังให้กับคนในวงการ เพราะเป็นปีที่เราได้มีโอกาสเห็น Start-up สัญชาติไทยกลายเป็น Unicorn ถึง 2 ตัว!
Unicorn หรือ Start-up ที่มีมูลค่าบริษัทเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต้องยอมรับว่าของไทยเรานั้น กว่าจะเกิดขึ้นมาเป็นตัวแรกคือ Flash Express ก็นับว่าช้ากว่าประเทศเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันอยู่เป็นปี แต่ในที่สุดตัวที่ 2 คือ Bitkub ก็ตามมาในเวลาไม่นานนัก การเกิดขึ้นของ Unicorn ทั้งสองตัวส่งผลให้วงการโลจิสติกส์และฟินเทคในไทยคึกคักขึ้นมาก
ในขณะที่สหรัฐอเมริกาช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ จัดได้ว่าเป็นปีทองของ HealthTech เพราะหลายบริษัทระดมทุนได้และเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นผลจากการระบาดของโควิด โดยในปี 2021 มี HealthTech Start-up ที่กลายเป็น Unicorn ถึง 32 ตัว โดยสัดส่วนเติบโตสูงสุดจาก Start-up กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีมาทำให้เกิดทางเลือกใหม่ในการรักษาแบบที่ไม่ต้องไปโรงพยาบาล หรือ Alternative Care
ส่วน HealthTech Start-up ของไทยเรานั้นแม้จะคึกคักขึ้นตามกระแสโลก แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะเกิด Unicorn แห่งวงการสุขภาพขึ้นมาได้
สำหรับหมอเองนั้น เข้าใจศัพท์คำว่า Unicorn ของ Start-up ครั้งแรกน่าจะเมื่อปี 2561 ในช่วงปีแรกๆ ที่ก้าวจากวงการแพทย์สู่วงการ HealthTech ด้วยการได้ศึกษาและทดลองร่วมทำโปรเจ็กต์กับ Start-up สายสุขภาพจากต่างประเทศ (จากการสนับสนุนของรัฐบาลประเทศนั้นๆ เช่น อิสราเอล สิงคโปร์) มาจนถึง Start-up สายสุขภาพสัญชาติไทย ทั้งการตัดสินใจเลือกที่จะให้ทุน ไปจนถึงการร่วมงานต่อยอด จนออกไปทดลองกับผู้ใช้งานจริง และในที่สุดก็ถลำตัวลึกจนกลายมาเป็น CEO ของ HealthTech Start-up สัญชาติไทยแท้ที่ชื่อว่า SkinX ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันหาหมอผิวหนัง (Teledermatology)
แม้จะทำงานในวงการนี้และเชื่อมั่นใน HealthTech แต่ถ้าใครมาถามความเห็นว่าจะมี HealthTech ไทยที่ไปถึงฝั่งฝันไหม ส่วนตัวคิดว่าเป็นไปได้ยากมาก ด้วยบริบทของธุรกิจเองซึ่งเป็นเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วย การที่ผู้ใช้งานจะ Adopt หรือตอบรับรูปแบบใหม่ๆ ของการให้บริการ เป็นไปได้ยากกว่าอุตสาหกรรมที่มีความจริงจังน้อยกว่า และยังมีสาเหตุหลักๆ มาจากสามเรื่องด้วยกัน
หนึ่งคือ ขนาดตลาด อัตราการเติบโตของ Start-up ขึ้นกับขนาดตลาด เนื่องจากประเทศไทยเราจัดเป็นประเทศขนาดไม่ใหญ่ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราไม่ได้มี Unicorn เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างประเทศที่มีประชากรมาก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย หรืออินโดนีเซีย
และยิ่งเป็นการบริการทางการแพทย์ ซึ่งขยายโมเดลไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ยากเพราะระบบสาธารณสุขที่ต่างกัน การให้บริการข้ามประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยกฎระเบียบข้อจำกัด การ Scale ข้ามประเทศจึงมีอุปสรรคมาก
สอง ข้อมูลสุขภาพจำนวนมากยังไม่ถูก Digitized สถานพยาบาล คลินิก และโรงพยาบาลหลายแห่งยังคงจดประวัติการรักษา การสั่งยา รวมถึงผลตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ ในรูปแบบกระดาษ ส่วนโรงพยาบาลที่ใช้ Electronic Medical Record นั้นก็ใช้ซอฟต์แวร์ต่างระบบกันไป ทำให้ข้อมูลทางสุขภาพของไทยนั้นยากต่อการรวบรวมเพื่อนำมาพัฒนา วิเคราะห์ และต่อยอดไปยังนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนา Machine Learning
และสาม ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดคือ ขาดการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่องจากภาครัฐและหน่วยงานที่เป็นผู้คุมกฎต่างๆ แม้ว่าภาครัฐจะมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ทำงานสนับสนุน Start-up อยู่ แต่ในภาพรวมโดยเฉพาะตัวบทกฎหมาย ต้องยอมรับว่ารัฐไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก Start-up กฎข้อบังคับด้าน Telepharmacy และ Telemedicine ตามไม่ทันเทคโนโลยีและบริบทที่เปลี่ยนไป จึงไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตของ Start-up และกฎหมายด้านภาษีก็ไม่เอื้อต่อการเกิด Employee Stock Options
HealthTech Start-up ในหลายประเทศได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นวัตกรรมต่างๆ ช่วยให้ Healthcare นั้น ‘เข้าถึง’ (Accessible) และ ‘เอื้อมถึง’ (Affordable) ได้มากขึ้นสำหรับคนทั่วไป คงจะดีกว่ามากหากผู้คุมกฎของรัฐและผู้ถือไม้เรียวจากหน่วยงานต่างๆ จะเปลี่ยนจากการออกกฎที่ชะลอการเติบโตของ Start-up หันมาสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน
댓글