top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Writer's pictureThidakarn Rujipattanakul

ดูแลสุขภาพ สำคัญที่ความพอดี

วันก่อนมีคนไข้มาปรึกษาว่า การดูแลสุขภาพให้ดีนี่มันเครียดนะ!

หมอจึงซักถามในรายละเอียดการใช้ชีวิต และพบว่าหลายอย่างตึงเกินไป ไม่พอดี เลยก่อให้เกิดความเครียด


จริงๆแล้ว เวลาไปบรรยายเรื่องการชะลอวัย หมอจะย้ำเสมอว่า การดูแลสุขภาพนั้น ไม่มีสูตรตายตัวสำหรับทุกคน ต้องปรับให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และความสะดวกของเรา อะไรทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องตึงจนเกินไป ในบทความนี้ หมอจะขอแชร์หลักส่วนตัวง่ายๆที่ใช้อยู่เพื่อเป็นแนวทางนะคะ


กินให้อิ่มแค่ 8 ใน 10 ส่วนของท้อง เป็นหลักคำสอนของชาวโอกินาวา เกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่นที่มีคนอายุยืนเกิน 100 ปีมากที่สุดในประเทศ


หลักการกินแบบง่ายๆ

ชวนให้ฝึกกินแบบมีสติ และถามตัวเองว่าอิ่มแค่ไหน แล้วหยุดเมื่อพอ ปัจจุบันคนเรามักกินแบบขาดสติ กว่าจะรู้ตัว ก็อิ่มจนไม่สบายท้องซะแล้ว


  • กินให้หลากหลาย โดยความหลากหลายในที่นี้หมายถึงวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพราะอาหารแต่ละอย่างจะมีสารอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกัน มีข้อดีข้อเสียต่างกัน การกินหลากหลายจึงส่งผลดีต่อสุขภาพและกระจายความเสี่ยงจากการกินอาหารบางอย่างมากเกินพอดี


  • ให้ร่างกายได้มีเวลาหิวแบบพอดีๆบ้าง วันละ 12-16 ชั่วโมง หรือเท่าที่ทำได้ ร่างกายเราไม่ได้ต้องการอาหารเข้าตัวตลอดเวลา การที่มีจังหวะให้ได้อดอาหารบ้าง จะช่วยให้มีการดึงไขมันที่เก็บสะสมมาใช้


  • ออกกำลังแต่พอดี ตั้งเป้าที่ 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ การออกกำลังที่หักโหมมากเกินไป โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลที่เหมาะสม อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ จากอนุมูลอิสระและการอักเสบในระดับโมเลกุลต่อก่อตัวขึ้นภายใน ในทางตรงข้าม การไม่ออกกำลังเลย ไม่มีจังหวะให้หัวใจและกล้ามเนื้อได้เหนื่อยบ้าง จะทำให้เราเหนื่อยใจกับสุขภาพที่ทรุดโทรมเมื่ออายุมากขึ้น


  • นอนพอดี 7-9 ชม. นอนเป็นเวลาที่สมองได้ถูกเก็บกวาดทำความสะอาด หัวใจได้พักผ่อนเต้นด้วยจังหวะที่ช้าลง ทั้งการนอนที่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป สัมพันธ์กับอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นลงและความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ


  • มีงานให้เครียดบ้าง แต่ไม่มากจนสมดุลเสีย ความเครียดในระดับเบาๆพอให้สมองได้ออกกำลัง ส่งผลดีต่อสุขภาพ ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า สำหรับคนที่เกษียณแล้ว การทำงานอาสาสมัครต่างๆ หรือหาอะไรทำให้ไม่ว่างเกินพอดี จะเป็นผลดีกับสุขภาพ ในทางตรงข้าม การทำงานที่เครียดจนไม่มีเวลาได้พักผ่อนหรือใช้เวลากับคนที่เรารักเลย ก็อาจส่งผลให้เงินที่หามาได้ ต้องหมดไปกับการซ่อมแซมสุขภาพในอนาคต


สรุปคือ

การใส่ใจดูแลสุขภาพ ต้องเข้าใจหลักการดูแลสุขภาพที่ถูกวิธี แต่ไม่ตึงจนเครียด ควรย่อหย่อนให้ตัวเองได้ทำอะไรตามใจบ้างเป็นบางครั้ง เพราะการกินดี ออกกำลังกาย นอนหลับ จะไม่เกิดประโยชน์เลย หากทำบนพื้นฐานของความเครียด หรือการใช้ชีวิตแบบขาดความสุขและความพอดี


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)


คลิกอ่านบทความอื่นๆของหมอผิง www.thidakarn.com

ฟังทิปดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ https://www.youtube.com/c/SingleBeingPODCAST

ดูเมนูอาหารเช้า www.instagram.com/thidakarn

คุยกับหมอผิง www.twitter.com/thidakarn


Comments


bottom of page