top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Writer's pictureThidakarn Rujipattanakul

ดิจิทัลดีท็อกซ์ กลับมานะ…สติ!


  • นักบวชในหมู่บ้านพลัม จ.นครราชสีมา แทบไม่มีใครน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์เลย ทุกคนดูอ่อนกว่าวัย ซึ่งน่าจะอธิบายได้จากวิธีการใช้ชีวิต การรับประทานอาหารที่เน้นผักผลไม้ที่มีประโยชน์ ทำกิจกรรมระหว่างวัน ทั้งทำสวนปลูกผัก ทำความสะอาด ขี่จักรยาน ออกกำลังกายเฉพาะตามความชอบส่วนบุคคล ที่สำคัญที่สุดคือการใช้ชีวิตกับปัจจุบันขณะ ยิ้มรับกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น และมีสติในทุกลมหายใจ

  • การได้ดิจิทัลดีท็อกซ์ หยุดติดต่อสื่อสารกับผู้คนบนโลกกว้าง แล้วหันกลับมาสื่อสารกับลมหายใจของตัวเองนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีค่า และเชื่อว่าการได้ฝึกใช้ชีวิตอย่างมีสติคือจิ๊กซอว์สำคัญอีกชิ้นในการดูแลสุขภาพ

ภาพเบื้องหน้าคือเพดานเต็นท์สีเหลืองฟ้า พื้นผิวที่แผ่นหลังสัมผัสคือเสื่อพลาสติกปูรองพื้นเต็นท์ ข้อเท้าขวาคันยิบๆ จากแมลงอะไรสักอย่าง

“มาทำอะไรที่นี่วะ? ทำไมไม่นอนเล่นคอมฯ อยู่บ้าน อาบน้ำอุ่นๆ นอนเตียงนุ่มๆ หรือนัดไปปาร์ตี้เคานต์ดาวน์กับเพื่อน”

นั่นคือเสียงในความคิดของหมอในคืนวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา

อาการอยากเช็กไลน์ อยากไถทวิตเตอร์ อยากอ่านเมล กระตุกต่อมความคิดเป็นระยะๆ แต่หมอก็ตัดใจ ปล่อยมือถือให้ถูกปิดสวิตช์ทิ้งไว้กลายเป็นก้อนสีดำไร้ค่านอนอยู่ก้นกระเป๋า ดื่มน้ำเปล่าอึกใหญ่ แล้วนอนหนีปัญหา

เชื่อว่าหลายคนที่ติดการเสพสื่อดิจิทัลและติดความสบาย คงจะมีอาการไม่ต่างไปจากนี้นัก เมื่อต้องอยู่ในภาวะตัดขาดจากการสื่อสารทางดิจิทัล เพื่อกลับมาฝึกสื่อสารกับตัวเอง ผืนดิน ต้นไม้ใบหญ้า ท้องฟ้า และความเงียบสงัดตามธรรมชาติของโลก

ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาหมอได้มีโอกาสไปฝึกภาวนาที่หมู่บ้านพลัม จังหวัด นครราชสีมา ซึ่งเป็นความตั้งใจที่เกิดขึ้น เมื่อตระหนักว่า ปี 2560 ที่ผ่านมา หมอทำงานหนักมากเกินไป จนขาดสติในหลายๆ เรื่อง ตื่นก็ขาดสติ ตื่นอย่างงัวเงียเพราะนอนไม่ค่อยพอ รับประทานอาหารก็ขาดสติ เพราะรีบรับประทาน รับประทานไปคิดเรื่องงานไป ขับรถก็ขาดสติ ขับรถไปคุยงานไปอยู่บ่อยครั้ง คุยกับคนที่อยู่ตรงหน้าก็ขาดสติ เพราะใจลอยไปคิดถึงเรื่องอนาคต และกว่าจะเข้านอนก็ขาดสติ เพราะเหนื่อยจนไม่ได้เหลือเวลาให้กับการมีสติทบทวนสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในแต่ละวันเหมือนที่เคยทำเก่าก่อน

ต้องขอบคุณสมองที่ตัดสินใจพาร่างกายตัวเองกลับไปเรียกสติกลับมาที่ใจอีกครั้ง

ชีวิตในหมู่บ้านพลัมนั้น แม้จะใช้เวลาที่ GMT+7 เหมือนกรุงเทพฯ แต่รู้สึกราวกับว่าที่พิกัดนั้นโลกหมุนรอบตัวเองด้วยจังหวะที่ช้ากว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นและเป็นไปด้วยจังหวะที่เนิบพอที่จะให้เราได้สังเกตความสวยงามของโลกรอบตัว ผู้คนรอบข้าง รวมถึงอาหารในแต่ละมื้อ

เสียงระฆังคือเสียงแรกของวันที่ปลุกให้ผู้คนในหมู่บ้านพลัมตื่นขึ้นจากภวังค์ กิจกรรมยามเช้าเริ่มต้นที่การนั่งสมาธิและเดินฝึกสมาธิ (Walking Meditation) จากนั้นจึงถึงเวลาของการรับประทานอาหาร ซึ่งสำหรับหมอแล้ว การรับประทานอาหารทั้งสามมื้อจัดเป็นไฮไลต์ของวัน

หมู่บ้านพลัมจะรับประทานอาหารในแบบมังสวิรัติ โดยเน้นวัตถุดิบออร์แกนิก โดยเฉพาะผักนานาชนิด ไม่ปรุงรสมาก และไม่เน้นทอด แม้จะฟังดูจืดและคลีนจนน่าขนลุก (สำหรับบางคน) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทำออกมาได้อร่อยมาก (อร่อยจริงๆ ไม่มีไขว้นิ้ว) อาจเพราะวัตถุดิบที่นำมาทำนั้นสดใหม่ และมีการใช้ผักและเครื่องเทศกลิ่นหอมมากมาย ทำให้อาหารนั้นได้รสอร่อยแบบธรรมชาติจริงๆ โดยไม่ต้องปรุงแต่งมาก อีกทั้งยังได้สารอาหารครบจากการเสริมถั่ว งา สาหร่าย เต้าหู้ เห็ด ที่มากันครบทีมในทุกมื้อ

แต่ที่พีกมากไปกว่ารสอาหารคือวิธีการรับประทาน ซึ่งเน้นการรับประทานในแบบ Mindful Eating หรือกินอย่างมีสติ นั่นคือไม่พูดคุยในระหว่างรับประทาน เคี้ยวช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด และโฟกัสกับการเปลี่ยนแปลงของอาหาร สำหรับคนที่ชินกับการกินเร็วและเคี้ยวหยาบอย่างหมอนั้นพบว่า การเปลี่ยนมาเคี้ยวช้าๆ และส่งความสนใจไปยังโสตประสาทที่สัมผัสกับอาหารมากขึ้นนั้น เปิดโลกทัศน์ในการกินรูปแบบใหม่เลยทีเดียว


จากเม็ดข้าวที่ผ่านเข้าปาก เมื่อเกิดการบดเคี้ยว เนื้อสัมผัสของข้าวจากเม็ด จะค่อยๆ เปลี่ยนรูปทรงเป็นของเหลว ความหวานละมุนของเม็ดข้าวค่อยๆ ถูกปลดปล่อยออกมา คลุกเคล้ากับรสและเนื้อสัมผัสอื่นๆ จากกับข้าว เนื้อสัมผัสและรสที่แตกต่างถูกหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน และถูกกลืนผ่านลำคออย่างช้าๆ ไม่น่าเชื่อว่า พอมีสติ แม้แต่การกินข้าวแค่คำหนึ่ง ก็สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ได้!

การปฏิบัติเพื่อฝึกสติในหมู่บ้านพลัมนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนชอบต่างกันไปตามแต่จริต บางคนอาจจะชอบระฆังเรียกสติ บางคนอาจจะสนุกกับการภาวนากับการร้องเพลง (Singing Meditation) บางคนอาจจะถนัดนอนพักผ่อนร่างกายหลังอาหารเที่ยง (Total Relaxation) แต่สำหรับหมอแล้ว นอกจากการรับประทานอาหาร ก็มีการออกกำลังกายนี่แหละที่ประทับใจมาก เพราะที่นี่ให้ความสำคัญกับการออกกำลัง มีทั้งการเตะลูกขนไก่ โยคะ วิ่ง รวมไปถึงรำกระบอง ซึ่งทุกกิจกรรมนั้น การกำหนดลมหายใจ รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก คือหัวใจสำคัญของการทำกิจกรรม

แม้จะพยายามมีสติกับภายในและลมหายใจของตัวเอง แต่ด้วยความเป็นหมอ ต้องขอสารภาพว่า อดไม่ได้ที่จะสังเกตว่านักบวชในหมู่บ้านพลัมทั้งชายหญิงนั้น แทบไม่มีใครน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์เลย และที่สำคัญคือทุกคนดูอ่อนกว่าวัย (แอบถามอายุหลวงพี่ หลวงน้า หลวงอา หลายท่านอยู่) ซึ่งน่าจะอธิบายได้จากวิธีการใช้ชีวิต การรับประทานอาหารที่เน้นผักผลไม้ ไม่มีโปรตีนไม่ดีจากเนื้อแปรรูปและเนื้อแดง มีกิจกรรมทางกายระหว่างวันทั้งจากการทำสวนปลูกผัก ทำความสะอาด ขี่จักรยาน อีกทั้งยังมีการออกกำลังกายเฉพาะตามความชอบส่วนบุคคล แต่ที่สำคัญที่สุดคือการใช้ชีวิตกับปัจจุบันขณะ ยิ้มรับกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น และมีสติในทุกลมหายใจ ซึ่งหมอเองอ่านทฤษฎีฝรั่งมามากมาย แต่ก็เพิ่งเคยพบภาคปฏิบัติที่ทำกันจริงๆ และเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมด้วยตัวเองก็วันนี้

การได้ดิจิทัลดีท็อกซ์ หยุดติดต่อสื่อสารกับผู้คนบนโลกกว้าง แล้วหันกลับมาสื่อสารกับลมหายใจของตัวเองนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามาก หมอเชื่อว่าการได้ฝึกใช้ชีวิตอย่างมีสตินั้นคือจิ๊กซอว์สำคัญอีกชิ้นในการดูแลสุขภาพ ซึ่งไม่ว่าจะแนวทางการปฏิบัติของศาสนาใด ล้วนเป็นแนวทางที่ดี หากฝึกจนปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน

“สิ่งที่จะนำกลับไปปฏิบัติคือ หาวันที่หยุดติดต่อสื่อสารทางดิจิทัลให้บ่อยขึ้น และฝึก Mindful Eating ค่ะ” นั่นคือคำมั่นสัญญาที่หมอให้ไว้กับหลวงพี่สัญญา (แค่ชื่อหลวงพี่ ก็ทำให้ไม่กล้าผิดสัญญาแล้ว) ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกประจำกลุ่มที่อบรม

จบประโยคลง ยังแอบคิดในใจต่อไปอีกว่า “ออกไป จะไปทวีตเล่าเรื่องดิจิทัลดีท็อกซ์ดีกว่า”

…นั่นไง ยังไม่ทันจะก้าวเท้าออกจากหมู่บ้านพลัม สติก็เริ่มฟุ้งกลับเข้าสู่เครือข่ายดิจิทัลที่เคยคุ้นอีกครั้ง

หายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้า หายใจออก


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiplumvillage.org

Comments


bottom of page