top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Writer's pictureThidakarn Rujipattanakul

จีนศึกษา การแพทย์แห่งโลกอนาคต

  • หนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์คือ จีน ซึ่งมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1,000 คนอยู่ที่ 2.22 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 3.19 คน ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของจีนส่งผลให้การนัดหมายแพทย์เป็นเรื่องยาก


  • Ping An Good Doctor คือแอปพลิเคชันบนมือถือที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถค้นหาแพทย์ ปรึกษา และนัดหมายแพทย์ออนไลน์ได้ อีกทั้งยังให้คำปรึกษาเบื้องต้นง่ายๆ ผ่านการตอบคำถามด้วย AI (Artificial intelligence) และเมื่อผู้ป่วยต้องการได้รับยาหรือเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็สามารถคลิกซื้อยาส่งถึงบ้าน

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์หลายคนเชื่อว่า AI สายสุขภาพจากจีนน่าจะพัฒนาได้ไกลแบบก้าวกระโดดยิ่งกว่าจากค่ายฝั่งอเมริกาอย่าง Google หรือ Watson เพราะจีนมีข้อมูลให้ AI ได้เรียนรู้มากกว่า


ข่าวการทยอยปิดตัวลงของสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคือ โพสต์ทูเดย์ หนึ่งในหนังสือพิมพ์เล่มโปรดที่หมอชอบอ่านมาตั้งแต่เปิดตัว สื่อสิ่งพิมพ์เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามา ส่งผลให้รูปแบบการเสพสื่อของคนเปลี่ยนไป ธุรกิจจึงต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบเพื่ออยู่รอด แต่สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ใช่อุตสาหกรรมเดียวที่ถูกก่อกวน เพราะอุตสาหกรรมอื่นอย่าง ธนาคาร ค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง การศึกษา ต่างก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน


วงการที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมาว่าจะถูก Disrupt เป็นรายถัดไปก็คือ Healthcare


การ Disruption หรือเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจนรูปแบบธุรกิจหรือบริการเดิมเปลี่ยนไป กระทั่งส่งผลให้ผู้นำในธุรกิจหรือผู้ได้รับประโยชน์หลักจากธุรกิจประเภทนั้นถูกสลับบทบาท มีผู้เล่นรายใหม่มาถือครองตลาดแทน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มักเริ่มต้นจาก ‘Pain’ คือ ปัญหาของผู้บริโภคหรือผู้รับบริการ ในแง่ของการแพทย์ ปัญหาหนึ่งที่พบเกือบทั่วทั้งโลกคือ ขาดแคลนแพทย์ ซึ่งมีทั้งขาดแคลนจากจำนวนแพทย์ที่ไม่พอจริงๆ และขาดแคลนเพราะปัญหาการกระจายตัวของแพทย์ หนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์คือ จีน ซึ่งมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1,000 คนอยู่ที่ 2.22 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 3.19 คน ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของจีนส่งผลให้การนัดหมายแพทย์เป็นเรื่องยาก ต้องรอคิวนาน มีปัญหาแพทย์ปลอม และมีการหาทางออกด้วยการบินออกนอกประเทศเพื่อรับการรักษา


Photo: Courtesy of Ping An Good Doctor

Ping An Good Doctor คือแอปพลิเคชันที่พยายามเข้ามาตอบโจทย์ปัญหานี้ ด้วยแอปพลิเคชันบนมือถือที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถค้นหาแพทย์ ปรึกษา และนัดหมายแพทย์ออนไลน์ได้ อีกทั้งยังให้คำปรึกษาเบื้องต้นง่ายๆ ผ่านการตอบคำถามด้วย AI (Artificial intelligence) และเมื่อผู้ป่วยต้องการได้รับยาหรือเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็สามารถคลิกซื้อยาส่งถึงบ้านได้ ที่สำคัญคือ Ping An Good Doctor ยังเป็นส่วนหนึ่งของ ผิงอัน บริษัทประกันรายใหญ่ของจีน การรักษาพยาบาลผ่านแพลตฟอร์มนี้จึงเบิกประกันได้ (สำหรับลูกค้าของผิงอัน) เรียกได้ว่าตอบโจทย์ครบวงจร

รัฐบาลจีนเองสนับสนุนเครือข่าย Telemedicine ของผิงอัน เพราะมองว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขที่ได้ผลดี โดยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ไฟเขียวให้ผิงอันเปิด ‘One minute clinic’ โปรเจกต์ทดลองจัดตั้งคลินิกที่ไม่ต้องมีหมอ แต่อาศัยการพบแพทย์ผ่านวิดีโอคอล ตรวจรักษาและรับยาได้ทันใจในไม่กี่นาที!

ผิงอันไม่ใช่ผู้เล่นรายเดียวในตลาดธุรกิจการแพทย์ของจีน WeChat แอปพลิเคชันสำหรับสนทนาติดต่อสื่อสารของจีนที่ไม่ต้องแข่งกับใคร เพราะทั้ง Facebook, Line และ WhatsApp ต่างถูกบล็อกในประเทศจีน แต่ WeChat ไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มสำหรับสื่อสาร แต่ยังเป็นโลกแห่งความบันเทิง ช้อปปิ้ง รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นโครงสร้างหลักในการดูแลสุขภาพของชาวจีน

โดย Tencent บริษัทเจ้าของ WeChat ได้พยายามเชื่อมต่อข้อมูลกับโรงพยาบาลหลายหมื่นแห่งในจีน โดยหวังว่าเมื่อข้อมูลจากทุกโรงพยาบาลเชื่อมกันหมด ผู้ใช้ WeChat จะสามารถนัดหมายแพทย์ผ่าน WeChat ได้ แพทย์ต่างโรงพยาบาลก็สามารถดูข้อมูลการตรวจต่างๆ ข้ามโรงพยาบาลกันได้ และยังดูพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนไข้เพื่อแนะนำแบบ 360 องศาได้ทั้งหมดด้วย WeChat ID ซึ่งเชื่อมโยงกับเลขบัตรประชาขน

แต่ทั้งหมดที่เล่ามายังมีขีดจำกัดของการให้บริการที่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ แม้เทคโนโลยีจะช่วยให้การค้นหาและนัดหมายแพทย์ทำได้ง่ายขึ้น คัดกรองคนที่ไม่ได้ป่วยถึงขั้นต้องพบแพทย์ให้ได้ดูแลตัวเองไปก่อน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์การขาดแคลนแพทย์ได้ดีพอ

Tencent จึงพยายามที่จะสร้าง AI Doctor หรือแพทย์ปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาช่วยงานแพทย์จริงๆ โดยเฉพาะงานในด้านที่ไม่ต้องพบปะกับคนไข้ เช่น อ่านผลเอกซเรย์ อ่านผลพยาธิวิทยา (ชิ้นเนื้อ) โดย ‘เซียวยี่’ (หมอน้อย) หุ่นปัญญาประดิษฐ์ของ Tencent สอบผ่านข้อสอบแพทย์ด้วยคะแนน 456 เกินกว่าเกณฑ์ต่ำสุดที่กำหนดให้ผ่านถึง 96 คะแนน



ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์หลายคนเชื่อว่า AI สายสุขภาพจากจีนน่าจะพัฒนาได้ไกลแบบก้าวกระโดดยิ่งกว่า AI จากค่ายฝั่งอเมริกาอย่าง Google หรือ Watson เพราะจีนมีข้อมูลให้ AI ได้เรียนรู้มากกว่า จากทั้งจำนวนประชากรและนโยบายไฟเขียวจากรัฐบาลให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่า

จากกรณีศึกษาในจีน จะเห็นได้ว่าอนาคตแห่งการแพทย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว การส่งต่อข้อมูลจากแต่ละโรงพยาบาลแบบไร้ตะเข็บ หุ่นยนต์หมอที่มาช่วยแบ่งเบาภาระงานของหมอจริง ปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยทั้งทำนาย วินิจฉัย และรักษา รวมถึงการทำลายกรอบความคิดที่ว่า การรักษาทางการแพทย์ต้องเกิดขึ้นในโรงพยาบาลเท่านั้น

แต่ทั้งหมดยังคงเป็นเพียงก้าวแรกของ Healthcare Disruption ยังมีข้อผิดพลาด ยังอยู่ในขั้นตอนการลองผิดลองถูก และทดลองจนกว่าจะได้ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ เทคโนโลยีต่างๆ จะถาโถมเข้ามาอีกมาก จนเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ Exponential กับรูปแบบการรักษาพยาบาล และในที่สุดเราจะก้าวไปถึงโลกอีกใบ ที่ปัญหาการขาดแคลนแพทย์จะหมดไป แต่อาจเกิดปัญหาขาดแคลนคนไข้ให้แพทย์ตรวจเป็นผลข้างเคียงแทน

อ่านเรื่อง AI จะมาแทนที่หมอ? เกิดอะไรขึ้นเมื่อคอมพิวเตอร์รู้ลึกกว่าแพทย์ ได้ที่นี่


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)

ภาพ: Shutter Stock

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Comments


bottom of page