ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 521,330 คนจากยุโรป 10 ประเทศ ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่ม โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคของระบบทางเดินอาหาร เบาหวาน และมะเร็งบางประเภท
สำหรับคนที่ติดตามหมอทางอินสตาแกรมหรือทวิตเตอร์ คงจะคุ้นกับเมนูอาหารเช้าที่หมอโพสต์อยู่บ่อยๆ และสำหรับคนช่างสังเกต อาจจะแอบเห็นว่ามักจะมีกาแฟดำเป็นตัวประกอบเข้าฉากร่วมกับอาหารอยู่บ่อยครั้ง และคอมเมนต์ที่สงสัยเกี่ยวกับกาแฟก็ปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ คือ
ดื่มกาแฟ ไม่เสียสุขภาพจริงหรอ ?
กาแฟ เครื่องดื่มที่คนเสพติดกันมากที่สุดในโลก เครื่องดื่มที่บางคนยกย่องว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้า กลับตกเป็นผู้ต้องหาว่าทำร้ายสุขภาพเป็นระยะ หากย้อนรอยประวัติศาสตร์กาแฟจะพบว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน กาแฟเคยถูกกล่าวหาว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ไปจนถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมาก็มีงานวิจัยที่มาลบล้างความเชื่อเหล่านี้ และงานวิจัยเกี่ยวกับกาแฟก็ถูกคลอดออกมาเป็นระยะ ซึ่งระยะหลังมาส่วนใหญ่จะเป็นไปในเชิงบวก
จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา งานวิจัยเกี่ยวกับกาแฟซึ่งจัดได้ว่ามีกลุ่มตัวอย่างมากที่สุดตั้งแต่เคยมีมาก็ได้ถูกปล่อยออกมาผ่านวารสารทางการแพทย์ Annals of Internal Medicine งานวิจัยชิ้นนี้มีกลุ่มตัวอย่าง 521,330 คนจากยุโรป 10 ประเทศ โดยใช้เวลาในการศึกษาอยู่ 16.4 ปี
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มกาแฟเป็นประจำมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่ม โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคของระบบทางเดินอาหาร เบาหวาน และมะเร็งบางประเภท โดยได้มีการตัดปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้การแปลผลสับสนออกไป เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือโรคประจำตัว
นักวิจัยอธิบายสาเหตุที่กาแฟส่งผลดีกับสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างว่า น่าจะเป็นผลจากสารต้านอนุมูลอิสระในกาแฟ แต่ไม่เกี่ยวกับกาเฟอีน เพราะในกลุ่มตัวอย่างที่ดื่มกาแฟแบบปราศจากกาเฟอีน ก็ยังมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตน้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นการดูความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มกาแฟกับการเสียชีวิต ซึ่งพอจะบอกแนวโน้มให้คนชอบดื่มกาแฟได้อุ่นใจและจิบกันนุ่มๆ ต่อไปได้ แต่ไม่ได้เป็นงานวิจัยที่จะสรุปได้ว่า การดื่มกาแฟส่งผลให้เสี่ยงตายน้อยกว่า หรืออายุยืนยาวกว่า
กินจิบกาแฟเพื่อสุขภาพ มีหลักพื้นฐานในการดังนี้ค่ะ
ควรดื่มเป็นกาแฟดำหรือกาแฟใส่นม (นมไขมันต่ำ นมถั่วเหลืองจืด หรือนมอัลมอนด์) ไม่ควรเติมครีมเทียม วิปครีม และน้ำตาล ซึ่งจะให้แคลอรีส่วนเกิน และเพิ่มความเสี่ยงต่อเบาหวาน
กาแฟคั่วแบบอ่อนจะมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่ากาแฟคั่วเข้ม
การชงแบบ French Press และ Turkish จะไม่สามารถกรองสาร Cafestol ออกไปได้ Cafestol เป็นสารที่เพิ่มคอเลสเตอรอลแบบ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีกับสุขภาพ
แต่ละคนมีการตอบสนองต่อกาแฟต่างกัน หากคุณเป็นคนที่ดื่มแล้วนอนไม่หลับ หรือมีปัญหาการนอนอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน ควรงดดื่มกาแฟหลังเที่ยงวัน หรือเปลี่ยนเป็นดื่มชาเขียว ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน แต่มีปริมาณกาเฟอีนที่ทำให้นอนไม่หลับน้อยกว่า
นั่งเขียนบทความไป จิบกาแฟไป ความคิดเชื่อมโยงบางอย่างก็ผุดขึ้นมาในสมอง จริงๆ แล้ว…กาแฟกับความรักมีความคล้ายคลึงกันหลายเหลี่ยมมุม หอมเมื่อแรกพบ อุ่นเมื่อได้ลอง สดชื่นเมื่อดื่มหมด แต่ถ้าตั้งทิ้งไว้จนชืดก็ขมจนหมดอร่อย และในแง่สุขภาพแล้ว ทั้งกาแฟและความรักจะดีกับสุขภาพก็ต่อเมื่อหาจุดสมดุลในการบริโภคที่พอดีกับกายและใจของเราได้ ถ้าเห็นด้วย…หมดแก้วค่ะ (กาแฟนะคะ อย่าเพิ่งข้ามประเภทเครื่องดื่ม!)
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
Cover Photo: Karin Foxx
อ้างอิง:
Marc J. Gunter et al. Coffee Drinking and Mortality in 10 European Countries: A Multinational Cohort Study. Annals of Internal Medicine, 2017
Comments