‘นาฬิกาชีวภาพ’ ช่วยให้ร่างกายกับสิ่งแวดล้อมสอดประสานกันอย่างสมดุล แต่ปัญหาคือไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันส่งผลรบกวนนาฬิกาชีวภาพอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการทำงานกะดึก งานวิจัยพบว่าคนที่ทำงานกะดึกเป็นเวลานานต่อเนื่องจนนาฬิกาชีวภาพเสียสมดุลไปจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม
งานวิจัยล่าสุดจากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน พบว่าการเลื่อนเวลานอนไปมาจนเกิด social jetlag นั้นส่งผลเสียต่อร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ซึมเศร้า และอ้วนลงพุง เพราะนาฬิกาชีวภาพที่ถูกรบกวนส่งผลรวนไปยังเซลล์ต่างๆ และฮอร์โมนทั่วร่างกาย
ความรู้ มักมีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘ความไม่รู้’ แต่ ‘กระหายใคร่รู้
‘นาฬิกาชีวภาพ’ ถูกหยิบยกขึ้นมาในวงการวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่ 18 เมื่อนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเกิดความสงสัยว่า พืชบางชนิดที่ใบชูชันในตอนกลางวัน แต่หุบอย่างเจียมตัวเมื่อตกกลางคืนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหากไม่มีแสงอาทิตย์มากระตุ้น เขาจึงนำต้นไมยราบ (Mimosa Pudica) มาปลูกในห้องที่มืดทั้งกลางวันและกลางคืน และพบว่าแม้จะอยู่ในที่ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของแสง ต้นไมยราบก็ยังคงมีการหุบของใบอย่างเป็นเวลาราวกับว่ามีนาฬิกาบอกเวลาอยู่ภายใน เมื่อศึกษาต่อมาจึงพบว่านาฬิกาสมมตินี้ไม่ได้มีอยู่แต่ในต้นไมยราบ แต่เป็นกลไกที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตมากมายไม่ว่าจะพืชหรือสัตว์ ไล่ตั้งแต่แมลงวันไปยันมนุษย์เรา นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อเพราะๆ ให้กับนาฬิกาชีวภาพนี้ว่า ‘Circadian Rhythm’ มาจากภาษาละตินคำว่า circa ซึ่งแปลว่า around และคำว่า dies ซึ่งแปลว่า day หลายปีต่อมา กระแสความรู้ในเรื่องนี้ยังคงไหลลื่นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 1971 นักวิทยาศาสตร์เริ่มลงลึกไปได้ในระดับยีน เมื่อค้นพบยีนที่มีส่วนสำคัญต่อนาฬิกาชีวภาพ และตั้งชื่อให้กับยีนนี้ว่า ‘Period’ แต่ในเวลานั้นพวกเขายังไม่สามารถต่อจิ๊กซอว์ทั้งหมดได้ว่ายีนนี้ควบคุมเซลล์ต่างๆ ในร่างกายให้ปรับเปลี่ยนตามเวลาที่แตกต่างไปใน 24 ชั่วโมงได้อย่างไร จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน 3 ท่าน ไมเคิล ยัง (Michael Young), เจฟฟรีย์ ฮอลล์ (Jeffrey Hall) และไมเคิล รอสแบช (Michael Rosbash) สืบค้นต่อไปจนพบว่ายีน Period นั้นสร้างโปรตีน (ซึ่งพวกเขาตั้งชื่อว่า) PER โดยโปรตีนเพอร์นี้จะถูกผลิตและเกิดการสะสมในนิวเคลียสจนมีปริมาณเพิ่มขึ้นในช่วงเวลากลางคืน และลดระดับลงในเวลากลางวัน การเพิ่มขึ้นและลดลงของโปรตีนเพอร์จึงเปรียบเสมือนการตีระฆังบอกเวลาให้เซลล์ในร่างกายทราบ โดยมีโปรตีน DBT จากยีน Doubletime และโปรตีน TIM จากยีน Timeless เป็นตัวช่วยเสริมกลไกเคาะระฆังบอกเวลาให้สมบูรณ์ การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสามเปรียบเสมือนการต่อจิ๊กซอว์ให้ภาพของนาฬิกาชีวภาพนั้นสมบูรณ์ขึ้น สืบสานความพยายามอย่างต่อเนื่องของนักวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายคนในช่วงเวลากว่า 40 ปี รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์จึงตกเป็นของพวกเขาทั้งสามในปี 2017 ที่ผ่านมานี้ วิทยาศาสตร์ของนาฬิกาชีวภาพได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เมื่อกระบวนการทำงานของกลไกนี้ถูกเฉลยจนชัดเจนขึ้นจนพบว่านาฬิกาชีวภาพมีบทบาทต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงาน อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต รวมไปถึงการทำงานของเซลล์สมอง ช่วงเวลา 6 โมงเช้าไปจนถึงเที่ยง เป็นช่วงที่มีการตื่นตัวของสมองสูง (High Alertness) ในขณะที่เวลาบ่ายเป็นช่วงที่ร่างกายตอบสนองได้รวดเร็ว (Fastest Reaction Times) อุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตมักขึ้นสูงสุดในช่วงเย็นและค่อยลดต่ำลงในช่วงหลังเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ร่างกายพร้อมสำหรับการหลับลึก การใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพช่วยให้ร่างกายกับสิ่งแวดล้อมสอดประสานกันอย่างสมดุล แต่ปัญหาคือไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันส่งผลรบกวนนาฬิกาชีวภาพอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการทำงานกะดึก งานวิจัยพบว่าคนที่ทำงานกะดึกเป็นเวลานานต่อเนื่องจนนาฬิกาชีวภาพเสียสมดุลไปจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม นอกจากการทำงานกะดึกแล้ว การเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้งจนมีปัญหานอนไม่พอจากอาการเจ็ตแล็ก รวมไปถึงคนที่ชอบนอนดึกตื่นสายแบบผิดเวลาไปอย่างมากในวันหยุด จนเกิด social jetlag ในช่วงวันธรรมดาก็จัดว่าเข้าข่ายกวนสมดุลนาฬิกาชีวภาพเช่นกัน งานวิจัยล่าสุดในกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน พบว่าการเลื่อนเวลานอนไปมาจนเกิด social jetlag นั้นส่งผลเสียต่อร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ซึมเศร้า และอ้วนลงพุง เพราะนาฬิกาชีวภาพที่ถูกรบกวนส่งผลรวนไปยังเซลล์ต่างๆ และฮอร์โมนทั่วร่างกาย การนอน ซึ่งเป็นเสาหลักอีกต้นของการดูแลสุขภาพเพื่อชะลอวัยจึงถูกขยายมิติให้ละเอียดขึ้น ความสำคัญของการนอนไม่ได้ถูกจำกัดแค่คุณภาพและปริมาณ แต่ยังรวมไปถึงเวลานอนที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เข้านอนเมื่อโลกมืดพร้อมให้ร่างกายหลับพัก และตื่นเมื่อโลกกลับมาสว่างอีกครั้ง สอดคล้องกันไปกับสัตว์โลกอีกมากมายที่ใช้ชีวิตอย่างเคารพกฎกติกาของธรรมชาติ
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
อ้างอิง
Zehring, W.A., Wheeler, D.A., Reddy, P., Konopka, R.J., Kyriacou, C.P., Rosbash, M., and Hall, J.C. (1984). P-element transformation with period locus DNA restores rhythmicity to mutant, arrhythmic Drosophila melanogaster. Cell 39, 369–376.
Bargiello, T.A., Jackson, F.R., and Young, M.W. (1984). Restoration of circadian behavioural rhythms by gene transfer in Drosophila. Nature 312, 752–754.
Siwicki, K.K., Eastman, C., Petersen, G., Rosbash, M., and Hall, J.C. (1988). Antibodies to the period gene product of Drosophila reveal diverse tissue distribution and rhythmic changes in the visual system. Neuron 1, 141–150.
Hardin, P.E., Hall, J.C., and Rosbash, M. (1990). Feedback of the Drosophila period gene product on circadian cycling of its messenger RNA levels. Nature 343, 536–540.
Liu, X., Zwiebel, L.J., Hinton, D., Benzer, S., Hall, J.C., and Rosbash, M. (1992). The period gene encodes a predominantly nuclear protein in adult Drosophila. J Neurosci 12, 2735–2744.
Vosshall, L.B., Price, J.L., Sehgal, A., Saez, L., and Young, M.W. (1994). Block in nuclear localization of period protein by a second clock mutation, timeless. Science 263, 1606–1609.
Price, J.L., Blau, J., Rothenfluh, A., Abodeely, M., Kloss, B., and Young, M.W. (1998). double-time is a novel Drosophila clock gene that regulates PERIOD protein accumulation. Cell 94, 83–95.
Comentarios