ในช่วง 2-3 ปีมานี้ หมอได้ยินข่าวเพื่อนรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่ รุ่นน้อง เสียชีวิตด้วยโรคต่างๆบ่อยครั้ง ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน เพิ่งได้ข่าวรุ่นพี่ที่นับถือ ซึ่งเพิ่งได้ย้ายไปทำงานในตำแหน่งใหม่ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างมาก เกิดหัวใจวายเฉียบพลันแบบไม่มีใครคาดคิด
ชวนให้กลับมาคิดจริงจังอีกครั้งว่า ชีวิตคนเรานั้นสั้นและไม่มีความแน่นอนใดๆ ศิลปะในการใช้ชีวิตให้มีความสุขในแต่ละวันได้ จึงเป็น skill ที่เราควรจะเรียนรู้และฝึกให้คล่อง
ในทางวิทยาศาสตร์ มีงานวิจัยหลายชิ้น ที่พยายามหาคำตอบว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนบางคนเป็น “Happy people” มีความสุขในชีวิตมากกว่าคนอื่น
หนึ่งในงานวิจัยที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งคือ Harvard Study of Adult Development ซึ่งตามกลุ่มตัวอย่างกว่า 800 คนตั้งแต่เรียนจบจนแก่ เป็นเวลาเกือบ 80 ปี และได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า ‘Relationship’ หรือความสัมพันธ์ในชีวิต คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสุข คนที่รู้จักรักษาความสัมพันธ์ที่ดี มีคู่ชีวิตที่ดี มีเพื่อนที่ดี จะส่งผลต่อดัชนีความสุขในชีวิตมาก ในทางตรงข้าม เมื่อเจอความสัมพันธ์ที่ส่งผลแย่ต่อชีวิต คนที่มีความสุขจะรู้จักเดินออกมาจากความสัมพันธ์นั้น
งานวิจัยยังพบอีกว่า Mindset ที่รู้จักการ “ปล่อยผ่าน” (หรือ ช่างแม่&%$) เป็นอีกหนึ่งจุดร่วมของคนมีความสุข โดยการตระหนักว่า ชีวิตนั้นสั้นเกินกว่าที่จะเสียเวลาไปเสียใจกับเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ รู้จักใช้อารมณ์ขันรับมือกับปัญหา และรู้จักที่จะรื่นรมย์กับปัจจุบันขณะ
ในเรื่องของการรักษาสมดุลชีวิตนั้น อีกงานวิจัยจาก Harvard ที่ตามกลุ่มนักศึกษาที่เรียนจบ 1,000 คนพบว่า คนที่ให้ค่ากับ เวลา มากกว่าเงินทอง และเลือกตัดสินใจเรื่องต่างๆในชีวิต โดยให้ความสำคัญกับเวลามากกว่า มีแนวโน้มจะมีความสุขในชีวิตมากกว่า
สอดคล้องกับอีกงานวิจัยจาก Princeton ที่พบว่า การทำงานได้เงินมาก ส่งผลให้ชีวิตมีความสุขขึ้นจริง แต่เมื่อเพิ่มถึงจุดหนึ่งคือ 75,000 USD ต่อปี การบ้างานจนรายได้เพิ่มมากกว่านั้น ไม่ได้เพิ่มความสุขในชีวิตอย่างมีนัยยะสำคัญอีกต่อไป สำหรับคนไทยเรา ความน่าสนใจของงานวิจัยนี้ น่าจะอยู่ที่แนวคิด มากกว่าตัวเลข เพราะบริบทของรายได้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ต่างกัน ตัวเลข 75,000 USD จึงไม่สามารถนำมาเทียบได้
การใช้เงินอย่างไรก็ส่งผลกับความสุขในชีวิตเช่นกัน วิจัยพบว่า การใช้เงินซื้อประสบการณ์ ‘Doing’ เช่น เที่ยว กิน ส่งผลให้เกิดความสุขในชีวิตที่มากกว่า ‘Having’ หรือการซื้อสิ่งของ
และสุดท้ายคือ การรู้จักดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วสุขภาพที่ดีคือพื้นฐานของความสุขต่างๆในชีวิต คนที่มีความสุขในชีวิตมักเลือกที่จะกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายดี พร้อมใช้งานได้ยาวนาน
สรุป 6 ข้อ ที่คนมีความสุขในชีวิตมักจะทำ
1. ลงทุนในการดูแลความสัมพันธ์ที่ดี ทั้งกับครอบครัวและเพื่อน
2. รู้จักปล่อยผ่าน
3. ให้ค่ากับ เวลา มากกว่าเงินทอง
4. ทำงานเลี้ยงตัวเองได้ดี แต่ไม่บ้างานมากเกินไป
5. ใช้เงินซื้อประสบการณ์ มากกว่าสิ่งของ
6. รู้จักดูแลสุขภาพร่างกาย
ส่วนตัวหมอเอง เห็นด้วยและพยายามฝึกสกิลทั้งหกข้อนี้มาโดยตลอด และมีอีกข้อที่ก่อให้เกิดความสุขส่วนตัวในแต่ละวัน คือการได้แบ่งปันข้อมูลดีๆตามโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ หวังว่าข้อมูลในบทความนี้จะส่งผลให้เกิดความสุขกับคนอ่านเช่นเดียวกับคนเขียนนะคะ
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
Ref.
1. Kumar A, Killingsworth MA, Gilovich T. Waiting for Merlot: Anticipatory Consumption of Experiential and Material Purchases. Psychological Science. 2014;25(10):1924-1931. doi:10.1177/0956797614546556
2. Whillans, Ashley, Lucía Macchia, and Elizabeth Dunn. "Valuing time over money predicts happiness after a major life transition: A preregistered longitudinal study of graduating students." Science advances 5.9 (2019): eaax2615.
3. Kahneman, Daniel, and Angus Deaton. "High income improves evaluation of life but not emotional well-being." Proceedings of the national academy of sciences 107.38 (2010): 16489-16493.
4. https://news.harvard.edu/gazette/story/2017/04/over-nearly-80-years-harvard-study-has-been-showing-how-to-live-a-healthy-and-happy-life/ 5. https://medium.com/mind-cafe/five-things-happy-people-have-in-common-according-to-science-e4f8f7e8c4c
Comments