งานวิจัยพบว่าสารกันแดด Oxybenzone ซึ่งเป็นสารกันแดดที่นิยมใช้ในครีมกันแดดแบรนด์ดัง เพราะมีคุณสมบัติในการป้องกันได้ทั้งยูวีเอและยูวีบี กลับมีผลเสียต่อปะการัง โดยส่งผลให้ปะการังถูกฟอกขาว สูญเสียสีตามธรรมชาติ และยังเป็นอันตรายต่อดีเอ็นเอของปะการัง ส่งผลให้ปะการังตายได้
ดาวโลกถือกำเนิดมา 4.54 พันล้านปี เป็นเวลาที่ยาวนานมาก ยาวเกินกว่าที่พวกเราจะจินตนาการช่วงเวลาเนิ่นนานขนาดนั้นออก หากเปรียบเทียบใหม่ สมมติว่า 4.54 พันล้านปีนั้น มีค่าเท่ากับ 1 ปี สมมติว่าโลกถือกำเนิดในวันที่ 1 มกราคม และสมมติอีกทีว่าวันนี้คือวันที่ 31 ธันวาคม ตอนใกล้จะเที่ยงคืน หากใช้หน่วยสมมติเปรียบเทียบนี้แล้ว จะพบว่ามนุษย์เรานั้นเพิ่งถือกำเนิดมาบนโลกเมื่อเย็นวันที่ 26 ธันวาคม หรือพูดง่ายๆ ว่า มนุษย์เราเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยรุ่นใหม่สุดๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นบนดาวโลกนี้
คำเปรียบเทียบของ เอ็ด ยง (Ed Yong) จากหนังสือ I Contain Multitudes ช่วยให้เราเข้าใจลำดับเวลาการเกิดขึ้นมาของมนุษย์ได้ชัดเจนยิ่ง แต่สิ่งที่ชวนให้คิดต่อคือ ทำไมผู้อยู่อาศัยรุ่นใหม่อย่างพวกเรา จึงมีอิทธิพลในทางลบกับดาวโลกมากนัก นี่พวกเราไม่รู้จักเกรงใจแบคทีเรีย เชื้อรา ปะการัง หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่กันมาก่อนหน้านี้เลยหรือ
ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ ที่ชอบค้นหาและครอบครอง ตั้งแต่ยุคอดีตที่เราเดินเท้า ขี่ม้า ไปจนถึงต่อเรือ เพื่อค้นหาแผ่นดินอื่น นอกเหนือไปจากแผ่นดินที่ถือกำเนิด และเมื่อค้นหาแล้ว ย่อมนำไปสู่การอยากได้มาครอบครอง จากผืนดิน เริ่มลามไปถึงผืนป่าและผืนน้ำ ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน มนุษย์ช่างค้นหาสามารถเดินทางสำรวจโลกได้ในทุกจุด รวมไปถึงโลกใต้น้ำที่ไม่ใช่ดินแดนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเรา และบางครั้งเราก็หลงลืมไปว่า ในการสำรวจโลกใต้น้ำนั้น เราได้ทิ้งบางสิ่งบางอย่างไว้ เป็นร่องรอยความเสียหายที่ธรรมชาติไม่ได้ต้องการ
“ควรเลือกครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้งยูวีเอและยูวีบี ทา 30 นาทีก่อนออกแดด ทาปริมาณให้มากพอ ทาให้ทั่ว ทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง และทุกครั้งหลังขึ้นจากน้ำ” เป็นคำแนะนำของหมอผิวหนังทั่วโลก ด้วยหวังจะช่วยปกป้องให้ผิวผู้คนไม่ถูกแสงแดดทำร้าย แต่บางครั้งพวกเรา (ทั้งหมอและคนไข้) ก็ลืมไปว่าอาจเกิดผลกระทบให้มีบางอย่างที่ขาว นอกจากผิวคน นั่นคือ ปะการัง!
งานวิจัยพบว่า สารกันแดด Oxybenzone ซึ่งเป็นสารกันแดดที่นิยมใช้ในครีมกันแดดแบรนด์ดังมากมาย เพราะมีคุณสมบัติในการป้องกันได้ทั้งยูวีเอและยูวีบี กลับมีผลเสียต่อปะการัง โดยส่งผลให้ปะการังถูกฟอกขาว สูญเสียสีตามธรรมชาติไป และยังเป็นอันตรายต่อดีเอ็นเอของปะการัง ส่งผลให้ปะการังตายได้
มีการประมาณกันว่าในแต่ละปี ครีมกันแดดราว 25-60 ล้านขวด กลายเป็นสารปนเปื้อนในท้องทะเลด้วยความไม่ตั้งใจ เวลาเพียง 20 นาทีที่คนแช่อยู่ในน้ำ ส่งผลให้สารเคมีราว 25% ในครีมกันแดดถูกชะล้างออกไปกลายเป็น ‘Swimmer pollution’
งานวิจัยในแหล่งดำน้ำ 6 แห่งในเซาท์แคโรไลนาพบสาร Oxybenzone ในระดับที่เข้มข้นเกินพอ ที่จะเป็นอันตรายต่อปะการังได้ในทั้ง 6 พื้นที่ นอกจาก Oxybenzone แล้ว สารเคมีอื่นๆในครีมกันแดดที่พบว่าเป็นอันตรายต่อปะการังได้เช่นกันคือ Butylparaben, Octinoxate และ Zinc หรือ Titanium Dioxide ในรูปแบบ Nanoparticle ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในครีมกันแดดแบบฟิสิคัลรุ่นใหม่ (Physical Sunscreen)
สำหรับนักสำรวจผู้ลุกล้ำดินแดนใต้ผืนน้ำ คงจะดีกว่าหากเราดำดิ่งลงไปสำรวจแบบสงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่ทิ้งร่องรอยความเสียหายให้ห้วงมหาสมุทรมากเกินไปนัก การเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้ทันทีคือ
เปลี่ยนมาใช้ครีมกันแดดที่ปราศจากสาร Oxybenzone, Butylparaben, Octinoxate, Zinc (Nanoparticles), Titanium Dioxide (Nanoparticles)
ทาครีมกันแดดเฉพาะบริเวณนอกเสื้อผ้า เช่น ใบหน้า คอ มือ ส่วนบริเวณที่มีเสื้อผ้าปกคลุม พยายามเลือกที่มีค่า UPF สูงๆ
ร่วมกันรณรงค์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครีมกันแดด ที่ปราศจากสารเคมีที่ทำร้ายปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆใต้ท้องทะเล
อย่าปล่อยให้ครีมกันแดดถูกเปลี่ยนบทบาทจากพระเอกที่ช่วยปกป้องสุขภาพผิว กลับกลายเป็นผู้ร้ายที่ทำลายสุขภาพปะการังใต้ท้องทะเล และอย่าปล่อยให้ความรัก ที่นำพาให้เราอยากรู้จักโลกใต้ผืนน้ำ กลับกลายเป็นการรู้จักเพื่อทำร้ายกัน เพียงเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
อ้างอิง:
Downs CA, Kramarsky-Winter E, Segal R, et al. Toxicopathological Effects of the Sunscreen UV Filter,Oxybenzone (Benzophenone-3), on Coral Planulae and Cultured Primary Cells and Its Environmental Contamination in Hawaii and the U.S. Virgin Islands. Arch Environ Contam Toxicol 2015 Oct 20. doi: 10.1007/s00244-015-0227-7.
www.ewg.org/enviroblog/2016/07/do-chemicals-your-sunscreen-damage-fragile-coral-reefs#.WYh0JccjHIU
Comments