top of page

บทความและอินโฟกราฟิก

Writer's pictureThidakarn Rujipattanakul

Sleepless in Japan


  • ปัจจุบันมีคนต้องเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับราว 6-10% แต่สำหรับคนญี่ปุ่น ตัวเลขจากงานวิจัยในกลุ่มตัวอย่างวัยกลางคนพบว่ามีผู้ที่ต้องเผชิญกับอาการนอนไม่หลับเรื้อรังมากถึง 13%

  • งานวิจัยญี่ปุ่นพบว่า คนที่นอนไม่หลับเรื้อรังจะมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองส่วน Dorsal Frontal Lobe ลดลงอย่างมีนัยสำคัญไม่ต่างกันกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า โรคซึ่งคร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นเกินกว่า 30,000 คนเป็นเวลาต่อเนื่องกันนับสิบปี


ภาพจิตรกรรม Another Sleepless Night โดย เจเน็ต ลาวิดา


ข้อความภาษาอังกฤษด้านบนตัดมาจากเรื่องสั้น Sleep ซึ่งฮารูกิ มูราคามิ ได้บรรยายอาการของคนนอนไม่หลับเรื้อรังไว้อย่างงดงามตามสไตล์ตัวหนังสือในแบบของเขา หากใครเคยอดหลับอดนอนติดกันหลายวันจนความคิดเบลอ สมองงง คล้ายวิญญาณจะหลุดออกจากร่าง คงพอจะนึกอาการออกว่าที่มูราคามิบรรยายมานั้นตรงกับความปรวนแปรของร่างกายที่เกิดขึ้นจริงมากน้อยเพียงใด

นอนไม่หลับ หรือ Insomnia นั้น หมายถึงการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 1 เดือน และส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตในเวลากลางวัน โดยที่อาการนอนไม่หลับนั้นไม่ได้เป็นผลมาจากยาหรือโรคอื่นๆ สถิติทั่วโลกพบว่าปัจจุบันมีคนต้องเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับราว 6-10% แต่สำหรับคนญี่ปุ่น ตัวเลขจากงานวิจัยในกลุ่มตัวอย่างวัยกลางคนพบว่ามีผู้ที่ต้องเผชิญกับอาการนอนไม่หลับเรื้อรังมากถึง 13%


งานวิจัยจาก The Japan Labor Health and Welfare Organization established Workers’ Preventative Health Care Centers (WPHCCs) ซึ่งเก็บข้อมูลจากคนทำงานในโรงพยาบาล 5,083 คนพบว่า บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้มีสัดส่วนไม่น้อยที่ประสบกับปัญหาเรื้อรังอย่างนอนไม่หลับ ซึมเศร้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดหลัง และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกคือมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างปัญหานอนไม่หลับเรื้อรังกับโรคซึมเศร้า นั่นคือหลายคนมีปัญหาทั้งสองร่วมกันโดยบอกไม่ได้ว่าอะไรเกิดก่อน แต่ที่รู้แน่ๆ คือโรคซึมเศร้าซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายนั้นคร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นเกินกว่า 30,000 คนเป็นเวลาต่อเนื่องกันนับสิบปี

งานวิจัยอีกชิ้นโดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่นเช่นกันพบว่า ในคนที่นอนไม่หลับเรื้อรังจะมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองส่วน Dorsal Frontal Lobe ลดลงอย่างมีนัยสำคัญไม่ต่างกันกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเป็นลักษณะเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าโรคทั้งสองมีความเกี่ยวเนื่องกันทางสรีระวิทยา

การนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสัญญาณที่ไม่ควรเพิกเฉย เพราะอาจเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้น การนอนไม่พออย่างเรื้อรังยังส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความจำเสื่อม รวมถึงเร่งการหดสั้นของเทโลเมียร์ (ส่วนปลายของสายดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความแก่ของเซลล์)

วิธีจัดการกับอาการนอนไม่หลับนั้น นอกจากคำแนะนำพื้นฐานอย่างการเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นต่างๆ แล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านจากโลกแห่งการตื่นไปยังโลกแห่งการนอน โดยอาจกำหนดเวลา 1 ชั่วโมงก่อนเวลาที่ตั้งใจจะนอนให้เป็นเวลา ‘เตรียมนอน’ ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้

  • อาบน้ำอุ่นๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

  • ปิดโทรทัศน์ โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน และหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอเหล่านี้ยับยั้งการหลั่งของเมลาโทนิน ฮอร์โมนที่ช่วยให้ง่วงนอน

  • หรี่ไฟในห้องนอนให้สลัว ไม่ควรเปิดไฟสว่าง โดยเฉพาะไฟนีออนแสงขาว

  • หยุดคิดเรื่องงาน ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น โยคะ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ฟังเพลงผ่อนคลาย อ่านหนังสือ (เนื้อหาไม่เครียดและไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน)

  • ขอความร่วมมือจากสามี ภรรยา คู่รัก รูมเมต ให้สนับสนุนช่วงเวลาเตรียมนอนของคุณ

หากปฏิบัติตามคำแนะนำนี้อย่างเคร่งครัดแล้วการนอนหลับยังคงเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับคุณ อย่ากลัวที่จะไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาโรคนอนไม่หลับ ก่อนที่การนอนไม่หลับนี้จะกัดกร่อนจิตใจจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือบ่อนทำลายร่างกายจนโรคร้ายอื่นๆ มาคร่าชีวิตให้คุณหลับไปตลอดกาลก่อนวัยอันควร

“Something is wrong.

But what? I can’t tell. My mind is crammed full of thick darkness. It’s not taking me anywhere. My hands are shaking. I try pulling out the key and putting it back in again. But my shaking hand can’t find the hole. I try again and drop the key. I curl over and try to pick it up. But I can’t get hold of it. The car is rocking back and forth. My forehead slams against the steering wheel.

I’ll never get the key. I fall back against the seat, cover my face with my hands. I’m crying. All I can do is cry. The tears keep pouring out. Locked inside this little box, I can’t go anywhere. It’s the middle of the night. The men keep rocking the car back and forth. They’re going to turn it over.”

ตัวละครหญิงสาวผู้มีปัญหานอนไม่หลับติดอยู่ในรถที่สตาร์ทไม่ติด ถูกล้อมรอบไปด้วยชายแปลกหน้าซึ่งโยกรถของเธอไปมาราวกับจะพลิกรถของเธอให้คว่ำในที่สุด


พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)

อ้างอิง:


Comments


bottom of page